กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) และบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด (IBM Thailand)จัดแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM International Collegiate Programming Contest (ACM-ICPC) ระดับประเทศ ครั้งที่ 2 เพื่อพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระดับสูงขึ้น ระหว่างวันที่ 23 -24 สิงหาคม 2553 โดยมีนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า .การเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ ACM—ICPC เป็นรายการแข่งขันที่มีชื่อเสียง โดยมีมหาวิทยาลัยระดับอุดมศึกษาจากทั่วโลกเข้าร่วมในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งภาษาคอมพิวเตอร์ยังเป็นเครื่องมือหลักอย่างหนึ่งในการพัฒนาและสร้างซอฟต์แวร์ใหม่ๆ นอกจากนั้นรูปแบบการแข่งขันการเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ ACM—ICPC ยังเป็นการสร้างแรงกระตุ้นไปยังสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญการพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น จึงนับได้ว่าเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนในระดับอุดมศึกษาเกิดทักษะและพัฒนาการแก้ไขโจทย์ปัญหาซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่ควรส่งเสริมสนับสนุนเป็นอย่างยิ่งหลังจากผ่านการแข่งขันในครั้งนี้แล้ว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมการแข่งทุกคนจะได้นำความรู้ และความสามารถ หรือประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับจากการแข่งขันไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและต่อประเทศ
ผศ.ดร.เมธี สรรพานิช รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การแข่งขันการเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ ACM—ICPC ระดับประเทศไทย ได้เริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 โดยมี ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตเป็นคณะจัดการดำเนินงาน และใช้รูปแบบการจัดแข่งขันตามมาตรฐานระดับโลก โดยได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติหรือ SIPA และบริษัท IBM ประเทศไทย
ทั้งนี้ ทางภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เองมีความพร้อมในทุกเรื่องจึงได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานในระดับ Asia และ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับประเทศ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในการส่งนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันฯ และทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขอขอบคุณสำหรับการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนมากมาย โดยเฉพาะทางบริษัท IBM ประเทศไทย ที่ให้เงินสนับสนุนทุนการศึกษาในการแข่งขันครั้งนี้
การประกวดเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM International Collegiate Programming Contest เป็นการจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมที่มีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งในปีนี้มีทีมที่สมัครเข้าร่วมทั้งหมด 55 ทีม จากสถาบันการศึกษา 15 สถาบันทั่วประเทศไทย โดยมีการแบ่งระดับการแข่งขันเป็น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ ระดับทวีป และ มีการแข่งขันในระดับโลก โดยสรุปรวมทั่วโลกมีจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมในระดับภูมิภาคในปีที่ผ่านมาถึง 300,000 คน ในระดับทวีปถึง 22,000 คน และในระดับโลกมีนักศึกษาเข้าร่วม 309 คน
สำหรับเป้าหมายของการจัดการแข่งขันในระดับประเทศไทยครั้งที่ 2 นี้ เป็นการเปิดเวทีให้กับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาแสดงความสามารถทางด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และยังเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาและนักศึกษาในระดับประเทศให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระดับสูง เพื่อจะเป็นตัวแทนในระดับประเทศไปแข่งในระดับทวีป และเข้าสู่ระดับโลกต่อไป
ผลการแข่งขันรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม CU Nibiru จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนการศึกษา 30,000 บาท, รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม CU Star 11 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท, รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ ทีม OPTIMUS จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท, รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 4 ได้แก่ ทีม CU Star 17 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 5 ทีม ZeptoSoft จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสำหรับผู้ทีมที่ชนะเลิศทั้งหมด 5 อันดับแรกทาง SIPA จะสนับสนุนเงินเพิ่มอีก 125,000 บาท เพื่อสนับสนุนในการเข้าร่วมการแข่งขันระดับเอเชียที่ประเทศเวียดนามต่อไป