ผู้ค้าใน AFET เฮ ยังไม่ถูกปรับค่าเงิน CESS

ข่าวทั่วไป Monday September 13, 2010 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET: จากการที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติปรับอัตราการจัดเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง (CESS) ส่งผลให้ผู้ประกอบการยางพาราที่จะส่งออกไปต่างประเทศต้องรับภาระค่าเงิน CESS ที่อาจสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่ราคาส่งออกยางพารา (FOB) อยู่ในระดับสูงเกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือน โดยการปรับอัตราค่าเงิน CESS ได้แบ่งเป็นระดับผันแปรขึ้นอยู่กับระดับราคายางพาราที่ส่งออก โดยอิงจากราคาประกาศของกรมวิชาการเกษตร อันจะมีผลทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องมีการปรับตัวในขบวนการและขั้นตอนในการส่งออก อาจก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยทางกระทรวงเกษตรฯจะมีการออกประกาศการเปลี่ยนการเก็บเงินเข้าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป ในส่วนของการซื้อขายล่วงหน้าใน AFET ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ในราคา FOB โดยมีการคำนวณค่าเงิน CESS อยู่ในราคาซื้อขายล่วงหน้าใน AFET ในประเด็นนี้ ครม. มีมติให้ยกเว้นให้การส่งมอบ-รับมอบยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ที่ผ่านการซื้อขายใน AFET ยังคงคิดอัตราเดิมสำหรับเดือนส่งมอบตุลาคม 2553 ถึงมกราคม 2554 (วันสุดท้ายที่จะใช้อัตราเดิมคือ 31 ม.ค. 2554) ดังนั้นสินค้ายางพาราที่มีการซื้อขายและส่งมอบผ่าน AFET จะมีสิทธิ์ ใช้อัตราเงินสงเคราะห์ในอัตราเดิมคือ 1.4 บาท/กก. สำหรับเดือนส่งมอบกุมภาพันธ์เป็นต้นไป การกำหนดอัตราเงินสงเคราะห์จะเป็นไปตามประกาศของกระทรวงเกษตรฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการ ที่เข้ามาซื้อขายใน AFET และมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งมอบยาง จึงจำเป็นต้องมีการติดตาม ค่า CESS อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รองรับการบริหารจัดการความเสี่ยงของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในรอบเดือนที่ผ่านมาราคายางพาราใน AFET มีความผันผวนมาก และราคายางเดือนไกล(มี.ค.54)ได้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดือนใกล้(ต.ค.53) และเข้าสู่สภาวะปกติ และในปีนี้ราคายางสูงกว่า กิโลกรัมละ 100 บาท ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีบางช่วงที่ราคาปรับลดลงบ้างแต่ก็อยู่ในช่วงสั้นๆ ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ในตลาดจริงอย่างใกล้ชิด ปัจจัยสนับสนุนในด้านอุปสงค์ มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับอุปสงค์จากผู้ผลิตล้อยางจีน ซึ่งหวนกลับสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกันกับที่สต็อกจีนยังคงอยู่ในระดับต่ำ ยอดขายยานยนต์ในประเทศญี่ปุ่นมีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจาก อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้การซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 สูงขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยทั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย (ภาวะฝนตกหนัก) ทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับภาวะปกติของตลาดยาง แม้ว่าในช่วงนี้คงจะเป็นฤดูกาลที่ผลผลิตจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วก็ตาม ดังนั้นควรมีการติดตามราคายางต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณอิสราพร กิจไพฑูรย์ ฝ่ายการตลาด ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) โทร 0-2263-9888, 0-2251-9535 หรือ www.afet.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ