โรงงานน้ำตาลหนุน กอน. ตั้งคณะทำงานลดอ้อยไฟไหม้ งัดมาตรการจูงใจชาวไร่ ตั้งเป้า 15 ปี ลดให้เหลือไม่ถึง 10%

ข่าวทั่วไป Monday September 13, 2010 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ โรงงานน้ำตาลพร้อมร่วมมือ กอน. แก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างเป็นระบบ ลดอ้อยไฟไหม้จาก 63% เหลือไม่เกิน 10% ภายใน 15 ปี ออกมาตรการทั้งระยะสั้น กลาง ยาว อัดฉีดเงินทุนกู้ยืมซื้อรถตัดอ้อย ตั้งบริษัทกลางจัดหาแรงงานตัดอ้อยสด ให้สิทธิพิเศษคนตัดอ้อยสดตามปริมาณที่กำหนด ไปจนถึงการพัฒนาพันธุ์อ้อยและเครื่องมือเครื่องจักร พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมากำกับดูแลโดยเฉพาะ นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล หนึ่งในคณะทำงานด้านอ้อยและประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้โดยการแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแล ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ อันประกอบไปด้วย ผู้แทนชาวไร่อ้อย โรงงาน และราชการ นั้น ทางกลุ่มโรงงานน้ำตาลพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้มีการกำหนดเป้าหมายการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงกว่า 60% ให้เหลือ 0% ภายในเวลา 15 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้จากฤดูการผลิต ปี 2552/2553 ซึ่งอยู่ที่ 63% ลงเหลือ 40% ภายในฤดูการผลิตปี 2557/2558 ระยะที่ 2 ลดจาก 40% เหลือ 20% ภายในฤดูการผลิตปี 2562/2563 และระยะที่ 3 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้จาก 20% ลงเหลือ 0% ภายในฤดูการผลิตปี 2567/2568 “ในทางปฏิบัติจริง การลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้เหลือ 0% หรือไม่มีอ้อยไฟไหม้เลยนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะอาจมีสาเหตุอื่นนอกเหนือจากการจงใจเผาอ้อย เช่น ภัยธรรมชาติ หรือการเผาอย่างอื่นในบริเวณใกล้เคียง แล้วลุกลามมาติดอ้อย เป็นต้น ดังนั้น เป้าหมาย 15 ปี หากลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ลงเหลือไม่ถึง 10% ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ได้มีการกำหนดมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว กล่าวคือ มาตรการในระยะสั้น จะเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการตัดอ้อยสดเพื่อลดอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจัง ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับนโยบายส่วนกลาง โดยคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่นจะกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดการดำเนินการในระดับจังหวัด เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่าง นอกจากนี้ ให้เร่งรัดจัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนชาวไร่อ้อยและโรงงานในการจัดซื้อรถตัดอ้อย โดยใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีกทั้งสนับสนุนองค์กรจัดตั้งในรูปแบบบริษัทกลาง โดยความร่วมมือระหว่างโรงงาน ชาวไร่อ้อย และหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดหาแรงงานตัดอ้อยเพื่อบริการตัดอ้อย และการนำต้นแบบโลจิสติกส์ในการวางแผนการเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อยมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง “อีกมาตรการหนึ่งที่น่าจะจูงใจชาวไร่อ้อยได้ก็คือ การให้สิทธิพิเศษแก่ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด สามารถขอความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ เช่น หากตัดอ้อยสดเกินกว่าปริมาณที่กำหนด จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือได้สิทธิพิเศษกรณีกู้เงินซื้อรถตัดอ้อย หรือได้สิทธิซื้อปุ๋ยราคาพิเศษ” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว สำหรับมาตรการระยะกลาง จะจัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ และกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย นอกจากนี้ จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานในการจัดการพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสมสำหรับการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวและส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่มาตรการระยะยาว จะส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเครื่องมือเครื่องจักรตัดอ้อยขนาดเล็ก และเครื่องมือสำหรับการขึ้นอ้อย การสาง การสับ และคลุกใบอ้อย เป็นต้น นอกจากนี้ จะส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อย เพื่อให้ได้อ้อยพันธุ์ดีที่ทิ้งใบ “ในฐานะที่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย พร้อมสนับสนุนภาครัฐในการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลกระทบจากปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อ การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในระยะยาว” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว ประชาสัมพันธ์โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในนามบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ วารุณี คำไชย (แนน) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 119

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ