กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--กบข.
กบข. เตือนคนไทยตระหนักถึงการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ ชี้ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หากไม่มีการวางแผนรับมือจะอยู่ได้อย่างลำบาก
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือเป็นประเทศผู้สูงอายุ จึงส่งผลให้ประเทศไทยต้องเตรียมวางแผนในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับการพัฒนาที่สำคัญในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ไปที่สำคัญๆ ได้แก่ ต้องพัฒนาประชากรเด็กที่มีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง ให้มีคุณภาพมากขึ้นทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ตลอดจนการศึกษาให้กว้างขวางและทั่วถึง เร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานและสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพ
ทังนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต โดยเฉพาะการพัฒนาสมรรถนะ (Competency) เพื่อรักษาระดับคุณภาพการผลิตไว้เตรียมแผนรองรับผลกระทบที่จะเกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองประชากรสูงอายุซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งเสริมสัมพันธภาพภายในครอบครัวเพื่อลดปัญหาสังคม เนื่องจากในอนาคตขนาดและรูปแบบของครัวเรือนไทยจะเปลี่ยนไป เพิ่มความสัมพันธ์ใกล้ชิดให้มากยิ่งขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง เพราะในอนาคตมีแนวโน้มที่ผู้คนจะเข้าสู่เขตเมืองมากขึ้นเพื่อหารายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้พื้นที่ และโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และส่งเสริมให้มีการออมในระดับครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถมีเงินใช้ในวัยเกษียณได้โดยไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น
เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าวอีกว่าด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป คนไทยทุกคนจึงควรเตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน เพราะในอนาคตเราทุกคนก็คือผู้สูงอายุคนหนึ่งในสังคม ดังนั้นหากทุกคนในสังคมต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ จึงต้องรู้จักวางแผน เตรียมการ ลงมือปฏิบัติ โดยเฉพาะการเก็บออมเงินเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตวัยเกษียณได้ด้วยตนเอง
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ยุวพร นนท์ภาษโสภณ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ( กบข.)
Government Pension Fund
Tel. 02-636-1000 Ext.263 , 01-612-2322
Fax. 02-636-1691