กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--พม.
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย จัดการเสวนาปุจฉา : วิสัชนา หัวข้อ “เด็กไทยไร้ปัญญา...เพราะปัญหาไอโอดีน?” ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในเด็ก หลังพบเด็กทารกที่เกิดระหว่าง ปี ๒๕๕๐ — ๒๕๕๑ กว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนต่อปี ประสบภาวะขาดสารไอโอดีน โดยนายวุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการเสวนา วันอังคารที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร
นายวุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เด็กและเยาวชนไทยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างมีระบบ ถูกต้อง เหมาะสม ทั้งด้านการสาธารณสุข การศึกษา การส่งเสริมพัฒนาการการเจริญเติบโตทางกาย จิตใจ สมองและสติปัญญา ให้พร้อมด้วยคุณธรรม และศีลธรรมอันดีควบคู่กันไป เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นที่ทราบกันดีว่าไอโอดีนซึ่งเป็นธาตุที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ เป็นธาตุสำคัญในการสร้างฮอร์โมนไธรอยด์ มีความจำเป็นมากต่อการพัฒนาทางสติปัญญา ร่างกาย และการควบคุมระบบเผาผลาญอาหารของร่างกาย โดยเฉพาะเด็กทารก จำเป็นต้องได้รับไอโอดีนเพื่อพัฒนาเครือข่ายของระบบเซลประสาทให้สามารถเชื่อมโยงได้อย่างหนาแน่น หากปราศจากสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ จะเกิดปัญหาต่อการเชื่อมโยงของระบบประสาท อาจมีผลกระทบต่อความสามารถทางสติปัญญาของเด็กไปตลอดชีวิตได้
นายวุฒิกร กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากการสำรวจตามโครงการคัดกรองระดับสารกระตุ้นไทรอยด์ฮอร์โมน (TSH) เพื่อตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในเด็กแรกเกิดในประเทศไทย พบว่า ประมาณร้อยละ ๒๐ ของทารกทั้งหมดที่เกิดในประเทศไทยระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ — ๒๕๕๑ มีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีเด็กทารกกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนต่อปี ประสบภาวะขาดสารไอโอดีน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการที่สมองถูกทำลายและการสูญเสียเชาว์ปัญญา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตระหนักต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับ ยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดการเสวนาปุจฉา : วิสัชนา หัวข้อ “ เด็กไทยไร้ปัญญา...เพราะปัญหาไอโอดีน?” เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ต่อกรณีปัญหาเด็กไทยขาดสารไอโอดีน รวมถึงสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ภาวะขาดสารไอโอดีน เพื่อผลักดันให้เกิดบูรณาการการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป