กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์
ครบครันเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโลหะปราสาทที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก สถาปัตยกรรมพุทธศิลป์ชั้นเลิศที่แฝงธรรมะสู่พระนิพพานอย่างลึกซึ้ง ณ วัดราชนัดดารามวรวิหาร ที่ “กษัตริย์เจ้าสัว” ทรงสร้างพระราชทาน “หลานรักผู้อาภัพ” พร้อมกิจกรรมหลากหลายสำหรับทุกคนในครอบครัว ตั้งแต่ ๑๕—๓๐ ก.ย. ณ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง และวัดราชนัดดารามวรวิหาร และเป็นครั้งแรกที่จะเปิดโอกาสสำคัญแห่งสิริมงคลให้ฟังเทศน์-ปฏิบัติธรรมที่โลหะปราสาทใน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ๒๓ ก.ย. นี้
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดนิทรรศการและกิจกรรมหมุนเวียน ร้อยนิทรรศน์ ยลรัตนโกสินทร์ ชุด “เรืองรองราชนัดดา หนึ่งในหล้าโลหะปราสาท” ระหว่างวันที่ ๑๕—๓๐ กันยายน ศกนี้ ที่อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง และวัดราชนัดดารามวรวิหาร เพื่อเผยแพร่คุณค่าของสถานที่สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทยชั้นเลิศ อันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และพุทธศาสนาที่สำคัญทั้งของชาติและของโลก คือโลหะปราสาทที่ยังคงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันเป็นที่เคารพสักการะของ พุทธศาสนิกชนทั่วไปโดยมีกิจกรรมที่หลากหลายให้เข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งการนำชมโลหะปราสาทและนิทรรศการ ที่ใช้เทคนิคพิเศษต่างๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ การจัด “ฟังเทศน์ ฟังธรรม” ในวันสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ ๒๓ นี้ ซึ่งเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ จะเป็นครั้งแรกที่เปิดให้ฟังเทศน์และปฏิบัติธรรมภายในโลหะปราสาทในช่วงเย็น นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม “ศิลปะสุขใจ” สำหรับเด็กและเยาวชนที่ชื่นชอบการวาดภาพระบายสีอีกด้วย
นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวว่า “เราตั้งใจจัดกิจกรรมในครั้งนี้อย่างน่าประทับใจ อยากให้ทุกคนมาร่วมชื่นชมกับคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของโลหะปราสาทซึ่งเป็นแห่งเดียวของโลกที่ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน เพราะโลหะปราสาทมีเพียง ๓ แห่งเท่านั้น คือมิคารมาตุปราสาท ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งนางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างขึ้นในสมัยพุทธกาล ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว แห่งที่ ๒ อยู่ที่ประเทศศรีลังกา สร้างประมาณ พ.ศ. ๓๘๒
โดยพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย กษัตริย์แห่งอนุราธปุระ ภายหลังถูกไฟไหม้และถูกทำลาย แต่ยังคงเหลือซาก
๑ ปรักหักพังให้เห็น ส่วนแห่งที่ ๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างแทนการสร้างเจดีย์ที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ทรงสร้างพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่พระราชนัดดากำพร้า คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี หรือสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี อัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โลหะปราสาทของไทยเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ โดยรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้เค้าโครงเดิมของ ศรีลังกา และประยุกต์ให้เป็นศิลปกรรมแบบไทย แต่ยังไม่แล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์ จึงมีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ ๕ และ ๖ เสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลปัจจุบัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อคราวฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ ” โลหะปราสาทและวัดราชนัดดารามวรวิหาร ล้วนมีประวัติความเป็นมาและรายละเอียดต่างๆ ที่น่า สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรมพุทธศิลป์ที่ออกแบบให้เป็นปราสาท ๓ ชั้น มี ๓๗ ยอด ซึ่งหมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ อันเป็นหลักธรรมสำคัญที่เป็นปัจจัยนำไปสู่การหลุดพ้นหรือพระนิพพาน
นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้อำนวยการด้านการผลิต ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงชุด เรืองรองราชนัดดา หนึ่งในหล้าโลหะปราสาท ว่า “ความโดดเด่นของนิทรรศการครั้งนี้ คือการนำเทคนิควิดีโออิ๊งค์เจ็ทมาใช้เป็นครั้งแรกของเมืองไทย เพื่อนำเสนอประวัติความเป็นมาของโลหะปราสาท นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคพิเศษอื่นๆ ได้แก่ เทคนิคคาไลโดวิชั่น เล่าตำนานโลหะปราสาทตั้งแต่สมัยพุทธกาล เทคนิควิดีโอสามมิติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดราชนัดดารามวรวิหารและเรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เทคนิคโฮโลแกรมขนาดเท่าจริง นำเสนอเรื่องศิลปะ สถาปัตยกรรม การสร้างและการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาทตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดย พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นสถาปนิกในการบูรณะโลหะปราสาทครั้งล่าสุด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ และเทคนิคทัชสกรีน ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ การเลือกสรรเทคนิคพิเศษดังกล่าวเพื่อสร้างมุมมองน่าสนใจในการชมเรื่องราวและศึกษาข้อมูลต่างๆ ทำให้ประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของกรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดจนธรรมะที่เป็นหัวใจสู่การหลุดพ้นนั้นมีการนำเสนอด้วยรูปแบบที่ทันสมัยชวนติดตาม”
๒ ในส่วนของการจัดกิจกรรมต่างๆ ๕ กิจกรรม ในช่วง ๑๕ — ๓๐ กันยายน ศกนี้ ได้แก่ การนำเที่ยวชมโลหะปราสาท เริ่มจากห้องนิทรรศการหมุนเวียน ในอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ไปจนถึงภายในโลหะปราสาท เปิดให้ชมทุกวัน วันละ ๓ รอบ เวลา ๑๗.๐๐ น., ๑๘.๐๐ น. และ ๑๙.๐๐ น. รอบละ ๔๕ นาที กิจกรรม “ฟังเทศน์ ฟังธรรม” เป็นการบรรยายธรรมโดยพระเถระจากวัดราชนัดดารามวรวิหาร จัดในวันเสาร์ — อาทิตย์ ที่ ๑๘ — ๑๙ และ ๒๕ — ๒๖ กันยายน วันละ ๑ รอบ เวลา ๑๕.๐๐ น. รอบละ ๖๐ นาที ที่ศาลาเอนกประสงค์ วัดราชนัดดารามวรวิหาร นอกจากนี้ ยังเตรียมสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ปฏิบัติธรรมในวันอุดมมงคล ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ กันยายน โดยเป็นครั้งแรกที่จะเปิดให้สวดมนต์ ฟังเทศน์ นั่งสมาธิเสริมบารมีมหามงคลใต้พระบรมสารีริกธาตุที่โลหะปราสาท เพียง ๒ รอบ เวลา ๑๗.๐๐ น. และ๑๘.๓๐ น. รอบละ ๖๐ นาที ติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. ๐๘ ๐๙๑๓ ๓๖๐๐ หรือลงทะเบียนที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ สำหรับเด็กและเยาวชนผู้ชื่นชอบการวาดภาพและระบายสี พบกับกิจกรรม “ศิลปะสุขใจ” ให้เข้าร่วม โดยจัดเตรียมเสื้อยืด พร้อมแผ่นกระดานสำหรับรอง และอุปกรณ์สำหรับระบายสี ให้วาดภาพในหัวข้อ “โลหะปราสาทของฉัน” หรือระบายสี จะจัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ ๑๘ — ๑๙ และ ๒๕ — ๒๖ กันยายน เวลา ๑๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. ทั้ง ๔ กิจกรรมดังกล่าว ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
“ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์” จะจัดนิทรรศการหมุนเวียน และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจเป็นประจำ ทุกเดือน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ติดตามรายละเอียดได้จาก :
www.rattanakosin-heritage.com
www.nitasrattanakosin.com
facebook /ร้อยนิทรรศน์ ยลรัตนโกสินทร์
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ “ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์”
อัญชลี เชื้อน้อย ๐๘๙ ๘๗๐ ๙๙๓๖ อิสรา พรหมมา ๐๘ ๑๒๐๘ ๕๗๗๒
สุขกมล งามสม ๐๘ ๙๔๘๔ ๙๘๙๔ ภวิกา ขันทเขตต์ ๐๘ ๖๕๖๗ ๑๖๗๗
ชามานันท์ สุจริตกุล ๐๘ ๑๘๓๕ ๙๕๘๕