กรุงเทพฯ--13 เม.ย.--ศปถ.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแถลงยอดผู้เสียชีวิต วันที่สอง ตาย 57 คน บาดเจ็บ 720 คน เมาสุราและรถจักรยานยนต์ยังครองแชมป์ รวม 2 วัน มีผู้เสียชีวิต 98 คน จังหวัดยโสธร ปฏิบัติงานยอดเยี่ยม ยังไม่มีผู้เสียชีวิตเลย พร้อมสั่งการให้กระจายจุดตรวจลงสู่ถนนสายรอง และขอความร่วมมือประชาชนเล่นน้ำในกรอบวัฒนธรรมประเพณี หลีกเลี่ยงการเล่นสาดน้ำในลักษณะรุนแรง ส่วนผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ สามารถติดต่อขอรับการชดใช้ค่าเสียหายได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน แถลงข่าวสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2550 ของวันที่ 12 เมษายน 2550 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 632 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 57 คน บาดเจ็บ 720 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดจากการเมาสุรา ร้อยละ 40.03 รองลงมา คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 19.30 และขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 11.39 ตามลำดับ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.93 รองลงมา รถปิคอัพ ร้อยละ 8.99 และรถนั่งส่วนบุคคล ร้อยละ 2.29 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในช่วงทางตรงของถนนนอกเขตทางหลวงแผ่นดิน และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ช่วงกลางคืนเวลา 16.01 - 20.00 น. จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก และนครราชสีมา (จังหวัดละ 5 คน) รองลงมา นครสวรรค์ (4 คน) เชียงใหม่ (3 คน) จังหวัดที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต มีจำนวน 43 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ศรีสะเกษและเชียงใหม่ (จังหวัดละ 26 คน) รองลงมา ได้แก่ อุดรธานี (25 คน) เชียงราย (24 คน) นครราชสีมา (23 คน) จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ( 27 ครั้ง) รองลงมาได้แก่ อุดรธานี (24 ครั้ง) เชียงราย (23 ครั้ง) และศรีสะเกษ (22 ครั้ง) ตามลำดับ
จำนวนอุบัติเหตุสะสม 2 วัน (11-12 เมษายน 2550) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม 1,067 ครั้ง น้อยกว่าปี 2549 111 ครั้ง (ลดลงร้อยละ 9.42) ผู้เสียชีวิตรวม 98 คน น้อยกว่าปี 2549 จำนวน 20 คน (ลดลงร้อยละ 16.95 ) ผู้บาดเจ็บ รวม 1,234 คน น้อยกว่าปี 2549 53 คน (ลดลงร้อยละ 4.12) ทั้งนี้ จังหวัดที่ยังไม่มีการ เกิดอุบัติเหตุรวม 2 วัน ได้แก่ ยโสธร ในการเรียกตรวจตามมาตรการ 3ม 2ข 1ร มีการเรียกตรวจ 1,819, 299 คัน พบการกระทำผิดและดำเนินคดี จำนวน 38,950 ราย เนื่องจาก ไม่พกพาใบขับขี่ สูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัยและไม่คาดเข็มนิรภัย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นกำลังหลักประจำจุดตรวจร่วม รองลงมา ได้แก่ สมาชิก อปพร. กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตามลำดับ โดยในวันที่สองของช่วง 7 วัน ระวังอันตราย มีการตั้งด่านตรวจ จำนวน 3,251 จุด เฉลี่ย 3.51 จุดตรวจ/อำเภอ มีเจ้าหน้าที่ประจำเฉลี่ยจุดตรวจละ 28 คน มีเจ้าหน้าที่ รวมทั้งหมดทั่วประเทศ 91,925 คน กลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 25 — 29 ปี สำหรับผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่อยู่ในช่วง อายุต่ำกว่า 19 ปี
นายอารีย์ กล่าวต่อไปว่า ใวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับถึงภูมิลำเนาแล้ว จึงได้สั่งการให้มีการกระจายจุดตรวจและกำลังเจ้าหน้าที่ จากถนนสายหลักลงสู่ถนนสายรอง เพื่อให้เป็นจุดสกัดกั้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน โดยให้มีการกวดขันจับกุมผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เมาสุรา ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นพิเศษ เนื่องจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่อุบัติเหตุเกิดขึ้นบนถนนสายรอง รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบดูแล การตั้งด่านเรี่ยไรเงินบนถนนในบริเวณหมู่บ้าน ชุมชน เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร ทำให้รถต้องชะลอตัวกะทันหัน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ พร้อมกันนี้ขอฝากเตือนให้ผู้ปกครองกวดขันดูแลบุตรหลาน มิให้ออกไปมีพฤติกรรมเสี่ยงในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เพราะนอกจากเด็กจะได้รับโทษตามฐานความผิดแล้ว ผู้ปกครองยังต้องรับโทษด้วยเช่นกัน และขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถเป็นพิเศษ เพราะเริ่มมีการเล่นน้ำสงกรานต์ในหลายพื้นที่ หากผ่านจุดที่มีการเล่นน้ำให้ลดความเร็วและระวังประชาชนที่เดินริมข้างถนนและรถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ เพราะคนส่วนใหญ่มักเพลิดเพลินกับการเล่นน้ำ จนลืมระวังอันตราย ประกอบกับถนนที่เปียกลื่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้มากขึ้น ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้นำรถบรรทุกน้ำตระเวนเล่นน้ำ และขอให้เล่นน้ำในกรอบวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม อย่าเล่นสาดน้ำรุนแรง ควรใช้น้ำสะอาดหรือน้ำอบไทย หลีกเลี่ยงการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง การสาดน้ำใส่ผู้ขี่รถจักรยานยนต์ เพราะอาจทำให้เสียหลักในการทรงตัว ล้มคว่ำเกิดอุบัติเหตุได้ ห้ามมิให้มีการนำน้ำสกปรก หรือน้ำผสมน้ำแข็ง เม็ดสาคู เม็ดแมงลัก และสีมาใช้ในการเล่นน้ำ สำหรับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนสามารถติดต่อนายทะเบียนคุ้มครองภัยจากรถ กรมการประกันภัย กลุ่มคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขตทั้ง 4 เขต หรือสำนักงานประกันภัยจังหวัด ทุกจังหวัด เพื่อประสานขอรับการชดใช้ค่าเสียหายในเบื้องต้นตาม พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2545 สุดท้ายนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลข่าวสารหรือแจ้งอุบัติเหตุ ได้ที่สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป