กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สสวท.
ศ. ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า ตามที่ สสวท. ได้จัดส่งผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการใน 5 สาขาวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์นั้น ผลการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ที่จัดขึ้นใน วันที่ 15 — 22 สิงหาคม 2550 ณ กรุงซาเกรบ ประเทศโครเอเซีย ปรากฏว่าได้ 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน ได้แก่
เหรียญทอง นายภูมิชนิตย์ วัฒนะประกรณ์กุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
เหรียญเงิน นางสาวพิชญา โพธิลิ้มธนา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
เด็กหญิงทักษพร กิตติอัครเสถียร โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม)
นายธนะ วัฒนวารุณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ในส่วนของอาจารย์ผู้ควบคุมทีม ได้แก่ หัวหน้าทีม ผศ. ดร. พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองหัวหน้าทีม ผศ. ดร. จิตรทัศน์ ฝักเจริญผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยหัวหน้าทีม ผศ. ดร. พีรวัฒน์ วัฒนพงษ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้จัดการทีม นางสาวจีระพร สังขเวทัย สสวท.
นายภูมิชนิตย์ วัฒนะประกรณ์กุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการ ทำให้ได้พบคนที่มีความสามารถในศาสตร์หลากหลายต่างๆกัน เป็นที่ปรึกษาได้ อย่างดี พบคนที่สนใจสายงานเดียวกัน จับกลุ่มร่วมมือกันทำงานได้ ได้สัมผัสแนวคิดใหม่ๆที่หลายหลาย เกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางคอมพิวเตอร์ และได้วิธีการคิดใหม่ ตอนเด็กๆ ชอบอ่านการ์ตูน โตขึ้นมาหน่อย อ่านนิยาย เช่น สถาบันสถาปนา(The Foundation) แต่ตอนนี้แทบไม่ได้อ่านหนังสือเล่ม เพราะอ่านจากจอคอมพิวเตอร์ตลอด ส่วนใหญ่เป็นเกร็ดความรู้ทั่วไป หรือเรื่องทางคอมพิวเตอร์
สิ่งที่ภูมิชนิตย์ ชอบในวิชาคอมพิวเตอร์คือทฤษฎีที่ต้องคิดออกมาเป็นฐานการเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อน และมีความหมาย พร้อมกับทิ้งท้ายว่าความรู้ของนักเรียนโอลิมปิกวิชาการทุกคนเริ่มจากศูนย์ “ผมเคยสอบคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนได้ 65% เมื่อเราพร้อม ครอบครัว อาจารย์และเพื่อน ๆ ก็ทำให้เราพัฒนาขึ้นเอง ดังนั้นทุกคนจึงไม่ควรที่จะดูถูกตนเองว่าทำไม่ได้”
นางสาวพิชญา โพธิลิ้มธนา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ผู้แทนประเทศไทย 2 ปีซ้อน ซึ่งปีที่แล้วได้เหรียญทองแดงคอมพิวเตอร์โอลิมปิก กล่าวว่า ตนเองนั้นชอบเขียนโปรแกรม เพราะเป็นการนำความรู้ทฤษฎีทั้งหมดที่เรามีมาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาที่เราได้รับมา และได้ผลลัพท์ออกมาเป็นรูปธรรม ครอบครัวมีส่วนสนับสนุนในการเรียนอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังให้มีวินัยในตนเอง รู้เวลา เช่น เวลาเรียนก็ตั้งใจเรียน เวลาว่างก็ทำกิจกรรมอย่างอื่น นอกจากนี้ พ่อกับแม่ไม่เคยบังคับความคิดของลูก จะทำอะไรก็ได้ แค่เพียงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
พิชญาชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชน นิยาย เรื่องที่ชอบมากที่สุดคือเรื่องส้มสีม่วง ของดาวกระจาย หนังสือประเภทนี้ทำให้เราสนุกสนาน ผ่อนคลายอยู่แล้ว และเรื่องนี้ทำให้หนูชอบมาก เพราะผู้แต่งเป็นคนที่มีจินตนาการสูงมาก และถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องเป็นราวได้อย่างดี ส่วนอนาคตใฝ่ฝันจะคิด องค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติและโลก และทำให้พ่อแม่ภูมิในใจตัวเรา เคล็ดลับการเรียนคือรักในสิ่งที่เรียน ต้องเรียนเพื่ออยากรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อการสอบ “ขอขอบคุณที่ติดตามข่าวโอลิมปิกวิชาการ และเป็นกำลังใจให้กับพวกหนูทุกคนค่ะ”
เด็กหญิงทักษพร กิตติอัครเสถียร โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม) เล่าว่า ชอบเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ เพราะ ชอบเล่นเกม ทำให้สนใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และได้เห็นประโยชน์มากมายของวิชาคอมพิวเตอร์ จึงอยากเขียนโปรแกรมเป็น เทคนิคการเรียนต้องไม่เครียดกับการเรียน แต่ตั้งใจเรียนเวลาอาจารย์สอน ถ้าไม่เข้าใจก็ถามเพื่อน ทักษพรชอบอ่านนิยายแฟนตาซีโดยส่วนใหญ่ หนังสือที่ชอบเป็นพิเศษคือเรื่อง Watership Down ของ Richard Adams เพราะว่าเป็นเรื่องที่สนุกสนาน มีเนื้อหาสะท้อนพฤติกรรมของมนุษย์
อยากให้เยาวชนและประชาชนเห็นประโยชน์ของโครงการโอลิมปิก ว่าไม่ใช่แค่ทำชื่อเสียงให้ประเทศ แต่จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในอนาคต
นายธนะ วัฒนวารุณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า การเรียนทั้งในระดับโอลิมปิกวิชาการ และในโรงเรียน การตั้งใจเรียนในห้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หมั่นทบทวนเป็นระยะ การกวดวิชาหรืออ่านหนังสือหักโหมเกินไปไม่ช่วยให้เราได้พัฒนาความรู้ได้มากเท่าที่ควร เอาเวลามาทำงานอดิเรก ผ่อนคลายบ้าง จะช่วยให้เรียนหนังสือได้อย่างมีความสุข ตัวผมจะไม่กดดันตัวเองให้ต้องทุ่มเทอ่านหนังสืออย่างหนัก เรียนพิเศษอย่างหนัก เพื่อให้ได้เกรด 4.00 แต่ผมจะปล่อย ให้ตัวเองสบาย ๆ เพียงแต่ตั้งใจเรียนในห้อง และอ่านหนังสือเมื่อมีเวลาว่าง ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองเครียด ผมอ่านนวนิยายค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือจำพวก เบาสมองมากกว่า เพราะเราเรียนหนังสือก็ใช้สมองมากพอแล้ว อ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลายจะดีกว่า
ธนะทิ้งท้ายว่าการส่งเสริมนักเรียนให้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ หากให้นักเรียนได้ฝึกฝน พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการปฏิบัติจริงอย่างเต็มที่ จะทำให้นักเรียนเห็นภาพจริง และทำให้การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ง่ายและเข้าใจมากขึ้น
สำหรับเที่ยวบินวันเดินทางกลับ TG 925 วันศุกร์ที่ 24 ส.ค. 2550 เวลา 12.40 น. โดย สสวท. จะจัดพิธีรับที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ภาพที่แนบทักษพร ธนะ ภูมิชนิตย์ พิชญา (จากซ้ายไปขวา)
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net