ส.อ.ท. ผนึก สวทช. สร้างภูมิคุ้มกันภาคอุตสาหกรรม ยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 15, 2010 10:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต่อยอดความร่วมมือ โครงการคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรมให้กระจายไปสู่ 39 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 74 จังหวัดของสภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมเสนอประเด็นความร่วมมือด้านวิจัย พัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในระดับประเทศและระดับโลก สภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมกับ สวทช. จัดพิธีลงนามโครงการคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระยะที่ 2 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล) ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ (นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล) และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล) ร่วมพิธีลงนามดังกล่าวเพื่อดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล กล่าวว่า “การทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ นี้เป็นไปตามกรอบนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์และ และเทคโนโลยีไปยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นการวิจัยเชิงประยุกต์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์บริการต่างๆ ตั้งแต่การคิดโจทย์เพื่อทำงานวิจัย จะเป็นการนำสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการมาตั้งโจทย์ทำวิจัยตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงให้นักวิจัยได้ทำงานใกล้ชิดและเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการในภาคการผลิตต่างๆ ช่วยให้สามารถพัฒนางานวิจัยให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมิติใหม่ที่แตกต่างจากแนวคิดเก่าหิ้งสู่ห้างจะเป็นการทำงานวิจัยที่ส่งเข้าห้างได้ตั้งแต่ต้น รวมไปถึงการนำอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนถึงบริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อนำมาสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของเอกชน ให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตที่เน้นการใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆได้มากขึ้น” ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “การที่ประเทศจะพัฒนาและแข่งขันในเวทีโลกได้ จำเป็นต้องมีการลงทุนทำวิจัยและพัฒนา ซึ่งตามเกณฑ์ของ UNESCO ค่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆทั่วโลก มีการลงทุนด้านการวิจัยประมาณ 1% ของ GDP แต่ประเทศไทยลงทุนเพื่อการวิจัยเพียง 0.21% ของ GDP ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ และอยู่ในกลุ่มของประเทศล้าหลัง ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีงบประมาณสำหรับการวิจัยตั้งแต่ 2% ถึง 5% ของ GDP ในฐานะองค์กรหลักด้านการวิจัย เราจึงต้องพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนทำวิจัยมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคเอกชน ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมจากภาคส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยอยู่ที่ประมาณ 40% ของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ น้อยกว่าค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งใช้จ่ายด้านการวิจัยประมาณ 60% ของประเทศ เราจะพยายามสนับสนุนให้ภาพรวมของประเทศมีการวิจัยเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการวิจัยของภาคเอกชนเป็น 50% และด้วยศักยภาพและความพร้อมของ สวทช. ทั้งบุคลากร เครื่องมือและห้องปฏิบัติการ สวทช. จะเปิดให้บริการกับเอกชนและภาครัฐอย่างเต็มที่โดยไม่หวังกำไร นอกจากนี้ยังต้องหาความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อจูงใจให้เอกชนหันมาลงทุนทำวิจัยเพิ่ม ซึ่งล่าสุด BOI ก็ได้เพิ่มสิทธิในมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ STI (Skill, Technology & Innovation) โดยเอกชนที่สนับสนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. ก็สามารถนำไปใช้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ ทั้งนี้ สวทช. ได้กำหนดเป้าหมายและมุ่งมั่นสร้างงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เอกชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงขึ้น ลดต้นทุน ลดความสูญเสียได้ มีรายได้มากขึ้น กลไกที่สำคัญของ สวทช.ในด้านนี้คือโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย Industrial Technology Assistance Program หรือ iTAP ซึ่งเป็นกลไกการส่งมอบที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการกระตุ้นและสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนในการวิจัยพัฒนา โดยการใช้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคในการแก้ไขปัญหาและวิจัยพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการจากภาคเอกชนโดยเฉพาะ ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา ITAP ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปวิเคราะห์ปัญหาและให้คำแนะนำในการปรับปรุงกระบวนการผลิต พร้อมทั้งการพัฒนาเครื่องจักร-อุปกรณ์ที่เหมาะสม ให้กับ 3 อุตสาหกรรมพื้นฐานของไทย คือโรงสีข้าว ฟาร์มเลี้ยงไก่ และโรงอบยาง ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โรงสีข้าวที่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้ถึง 2 เท่าต่อวัน คิดเป็นกำไรเพิ่มขึ้น 6-12 ล้านบาท/โรง ทั้งนี้ อนาคตจะผลักดันให้ITAP ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการนำโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนมาเป็นจุดตั้งต้นเพื่อเป็นโจทย์งานวิจัยและผสานความร่วมมือพัฒนาเป็นเครือข่ายความรู้และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศและจากทั่วโลก สร้างความเข้มแข็งและศักยภาพให้แก่อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยไทยให้ทำงานอย่างมืออาชีพในการพัฒนาเทคโนโลยีแก่ภาคเอกชน” ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดโครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยภายใต้โครงการคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Clinic) นี้ โดยที่ผ่านมา สวทช. ได้ให้การสนับสนุนทางวิชาการและงบประมาณในการวิจัย พัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาธุรกิจที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ และสำหรับความร่วมมือในระยะที่ 2 นี้ สภาอุตสาหกรรมฯ จะดำเนินงานต่อเนื่อง มุ่งขยายผ่านกลุ่มอุตสาหกรรม 39 กลุ่ม และ 74 จังหวัดของ สภาอุตสาหกรรมฯ” นอกจากความร่วมมือในโครงการคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแล้ว สภาอุตสาหกรรมฯ ยังได้เสนอประเด็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมฯ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ด้านวิจัย พัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ดังนี้ เสนอมาตรการเร่งด่วนและมาตรการเสริมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร (Agro-Based Industry) อ้อย ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ยางพารา โดยมุ่งสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและการเชื่อมโยงกันในห่วงโซ่อุปทาน และสนับสนุนการรวมกลุ่มการผลิตแบบคลัสเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพ เร่งผลักดันขับเคลื่อนโครงการอุทยานวิทยาศาตร์ภาคใต้ (ระยะที่ 2) ให้แล้วเสร็จ และให้ได้รับการเห็นชอบของคณะกรรมการระดับชาติ (ครม.) มาตรการส่งเสริมโครงการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปปรับใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์ หรือมักจะได้ยินคำว่า “จากหิ้งสู่ห้าง” ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการกระจายเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วประเทศ ทั้งรายสาขา ภูมิภาค และท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เชิงรุกของ ส.อ.ท. ในข้อที่ 1 : การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในแนวทางการสร้างคุณค่า (value chain) ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการศูนย์กลางการออกแบบเทคโนโลยี (Industrial Design) เพื่อการต่อยอดและ สนับสุนนอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งสถาบัน Industrial Design ในอนาคต โดยจะร่วมมือในการฝึกอบรมบุคลากรด้านการออกแบบอุตสาหกรรม การจัดทำโครงการนำร่องด้านการออกแบบ การประสานให้เกิด Virtual Industrial Design Center เพื่อเป็นแหล่งข้อมูล การสนับสนุนด้าน Supporting Tools ต่างๆ ที่มีอยู่ใน สวทช. การจัดการประกวดด้านการออกแบบอุตสาหกรรม และการสนับสนุนให้เกิดการจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายหลังการออกแบบ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ และ RFID การจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบราง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของประเทศไทย โครงการร่วมกันทำด้าน R&D และนวัตกรรม ซึ่งกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการเมืองอุตสาหกรรมนิเวศน์ (Eco-Industrial Town) โครงการ Green Product และการสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศหรือกิจการของคนไทย “สภาอุตสาหกรรมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ และสภาอุตสาหกรรมฯ อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จะทำให้เกิดการวิจัย พัฒนา นวัตกรรม และเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในระดับประเทศและระดับโลกต่อไป” นายพยุงศักดิ์ กล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-8 ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทรศัพท์ 026448150-89 ต่อ 702,709โทรสาร 023333934 Facebook , Twitter : nstdapr

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ