กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
พ.ย.นี้ 24 มหาวิทยาลัยภาครัฐ เอกชน เตรียมลงพื้นที่ 96 ชุมชนทั่วกรุงเทพฯ สำรวจความเห็นประชาชน จัดทำแผนปรองดองระดับ กทม. นำสู่การปฏิบัติ คาดใช้เวลาประมาณ 8 เดือน
นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนปรองดองระดับกรุงเทพมหานคร ว่า กทม.ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง 24 มหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชน และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ซึ่งเป็นผู้รวบรวมการทำแผนทั้งหมด โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยทั้ง 24 แห่ง ได้จับคู่ทำงานร่วมกัน โดยแบ่งการทำงานในพื้นที่ 6 กลุ่มโซนของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ PDA และสมาคมวิจัยการตลาด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำแผนชุมชนและการทำวิจัยในเชิงปฏิบัติการ เข้ามาร่วมทำงานด้วยการลงพื้นที่ชุมชน ดูปัญหาพร้อมนำเสนอวิธีการแก้ไข โดยใช้หลักเกณฑ์การทำวิจัยในชุมชน มีการวัดประเมินผลความพึงพอใจในพื้นที่นั้นๆ และจะนำร่อง 2 ชุมชนในเร็วๆ นี้
จากนั้นจะมีการประชุมระดับปฏิบัติการของทั้ง 24 มหาวิทยาลัย เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจกรอบการทำวิจัย และการทำงานเพื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนลงพื้นที่เพื่อทำแบบสอบถามภาคสนาม และทำ Focus Group ใน 96 ชุมชนทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 6 เนื้อหา ประกอบด้วย 1. การเข้าถึงระบบการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน 2. การพัฒนาด้านกายภาพ ของชุมชน 3. การแก้ไขปัญหาความยากจน และสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน 4. การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยอำนาจรัฐ 5. การเข้าถึง ทรัพยากรของรัฐ 6. ความเหลื่อม ล้ำในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งขณะนี้ได้มีแต่งตั้งคณะทำงานแล้ว 2 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน และคณะทำงานมี ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ซึ่งจะลงชุมชนในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษาวิจัยประมาณ 8 เดือน
ด้าน ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อาจารย์คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่อการปรองดองภายในเขต กทม. เปิดเผยหลังหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร 24 มหาวิทยาลัย ว่า การทำงานวิจัยเพื่อเสริมสร้างแผนปรองดองในกรุงเทพมหานครนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยจำนวน 24 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยแบ่งงานกันในการไปศึกษาเชิงลึกในชุมชนทั้ง 5 ประเภท อาทิ ชุมชนแออัด เคหะชุมชน ชุมชนในเมือง และชุมชนชานเมือง จำนวน 96 ชุมชน กระจายไปในพื้นที่ 6 โซนของกรุงเทพฯ โดยมุ่งประเด็นการศึกษาไปที่การรับรู้และหาทางออก ในสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ การได้รับบริการสาธารณะ บริการพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยนักวิจัยจะเข้าไปทำการศึกษาเชิงลึกกับบุคคลทุกเพศ ทุกวัยในชุมชน เพื่อหาความคิดเห็นร่วมกันให้คนในชุมชนช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด และให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เข้ามาเติมเต็มในส่วนที่จำเป็นซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการ ดูแลตัวเองได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยสามารถนำความรู้ประสบการณ์ความสำเร็จของชุมชนอื่น บุคคลอื่นมาเป็นแนวทางประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน ซึ่งหากผลการศึกษาที่เกิดขึ้นเป็นที่น่าพอใจทางมหาวิทยาลัยจะได้มีการทำงานสานต่อกับชุมชนในพื้นที่อย่างกว้างขวางต่อไป