กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--ส.อ.ท.
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนสิงหาคม 2553 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,084 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 102.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2553 จากระดับ 108.6 โดยค่าดัชนีที่ปรับลดลงเกิดจากองค์ประกอบของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม ได้แก่ การแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาคการส่งออก การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลัง ปี 2553 ที่อาจจะชะลอตัวลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบางในประเทศเศรษฐกิจหลักๆ
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง จากระดับ 117.6 ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 115.4 ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการจะปรับตัวลดลง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการชะลอตัว
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ดัชนีความเชื่อมั่นของ อุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลง ทั้งนี้เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยอุตสาหกรรม ขนาดย่อม ปรับตัวลดลงจากระดับระดับ 92.3 ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 90.4 ในเดือนสิงหาคม โดยมีองค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมสมุนไพร อุตสาหกรรมซอฟแวร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าของเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 115.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 112.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ด้านยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ ปรับเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากระดับ 111.3 ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 104.2 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าของเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 114.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 118.1 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดขายในประเทศ ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากระดับ 121.4 ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 116.7 ในเดือนสิงหาคม โดยมีองค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าของเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 117.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 121.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคตะวันออกเฉียงหนือ และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลายลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรรม และในภาคใต้เป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นภาคที่มีการส่งออกมาก ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่ออัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อภาคการส่งออก โดยภาคตะวันออกฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 103.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.2 ในเดือนกรกฎาคม มีองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่คลี่คลายทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 119.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.2 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 99.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 90.5 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ และเป็นช่วงฤดูกาลของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมสำคัญในภาคใต้ ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 116.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 103.4 ปรับลดลงจากระดับ 113.6 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการส่งออก อุตสาหกรรมสำคัญในภาคกลาง ที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตร อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 112.8 ปรับลดลงจากระดับ 120.3 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 100.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 100.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ และจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการขาดแคลนวัตถุดิบ อุตสาหกรรมสำคัญในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมสมุนไพร อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมเนื่อและกระดาษ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 116.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 112.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อในต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
และภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 103.5 ปรับลดลงจากระดับ 117.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ เนื่องจากการผู้ประกอบการมีความกังวลต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อการส่งออก อุตสาหกรรมสำคัญในภาคตะวันออก ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ อุตสาหกรรมเคมี โรงกลั่นและปิโตรเลียม อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 115.8 ปรับลดลงจากระดับ 129.3 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมปรับลดลงทั้ง 2 กลุ่ม กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับลดลงจากระดับ 106.8 ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 98.4 เดือนสิงหาคมซึ่งมาจากการปรับตัวลดลงของ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าอย่างเนื่อง อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น และจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง อุตสาหกรรมในกลุ่มที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ อุตสาหกรรมสมุนไพร อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 113.5 ปรับลดลงจากระดับ 117.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ และดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ เดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 114.4 ปรับลดลงจากระดับ 114.5 ในเดือนกรกฎาคม โดยมีองค์ประกอบที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง การแข็งค่าของเงินบาท อุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 121.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 117.4 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนมากที่สุด รองลงมาคือสภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ราคาน้ำมัน สถานการณ์ทางการเมือง และอัตราดอกเบี้ย ตามลำดับ โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้น ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นทางการเมือง ระดับราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลกเนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยังคงมีความกังวลกับปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศยุโรป ถึงแม้ว่าจะมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และการให้ความช่วยเหลือของธนาคารกลางยุโรปที่ประกาศให้เงินช่วยเหลือก็ยังสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน และอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย ในขณะที่มีความกังวลในอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น
และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก เร่งดำเนินการแผนปรองดองให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ผลักดันให้เพิ่มจำนวนสินค้าที่ควรบังคับใช้ มอก. ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทย และพิจารณากำหนดพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ควรให้ภาครัฐเป็นแกนกลางในการจัดตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย (ภาครัฐ, ภาคเอกชน, ภาคประชาชน, นักวิชาการ) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และลดความขัดแย้งระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับชุมชน