กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี ดำเนินโครงการสัมมนาพัฒนาแนวทางการสนับสนุนและประสานการปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระหว่างศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานีกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนารับทราบแนวทางการประสานการปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะทำให้
การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
นายปริญญา จาติเสถียร ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานีมีภารกิจด้านการบริหารจัดการสาธารณภัยที่เกินขีดความสามารถที่จังหวัดจะบริหารจัดการได้ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง และสุราษฎร์ธานี เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในการลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน หรือบรรเทาความรุนแรงจากภัยพิบัติ ต้องมีการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถในการดำเนินงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานีจึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ดำเนินโครงการสัมมนาพัฒนาแนวทางสนับสนุนและประสานการปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระหว่างศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานีกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ ในวันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2553 ณ ลานอเนกประสงค์ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี ถนนสายเอเชีย ตำบลหนองไทร อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนารับทราบแนวทางการประสาน การปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในการสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่ ตลอดจนเสริมสร้างทักษะการบริหารจัดการสาธารณภัยในด้านต่างๆ เช่น การแจ้งเตือนภัย การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การใช้งานระบบสายด่วนนิรภัย 1784 เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานมีศักยภาพในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันฯ