กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการเยาวชนรวมพลังสร้างสรรค์สามัคคี ณ ห้องประชุมโรงเรียนพณิชยการราชดำเนิน เขตบางกอกใหญ่ โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ ผู้บริหารโรงเรียนและนักศึกษาจาก 7 สถาบันการศึกษาฝั่งธนบุรีร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย โรงเรียนกุลสิริบริหารธุรกิจ โรงเรียนเทคโนโลยีหมู่บ้านครู โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม โรงเรียนวิบุลย์บริหารธุรกิจ วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี โรงเรียนพณิชยการราชดำเนิน ร่วมฟังการเสวนา
ภายในงานมีการเสวนาผลกระทบจากการทะเลาะวิวาท ประกอบด้วย นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางอังศุ ขำวงศ์ มารดาของด.ช.จตุพร ผลผกา หรือ น้องเทียน ผู้เสียชีวิตจากเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาท นายไพฑูรย์ พันธ์ชาตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนพณิชยการราชดำเนิน พ.ต.อ.รัฐศักดิ์ รักสลาม ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี โดยมี นายแทนคุณ จิตต์อิสระ โฆษกกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งผู้เสวนาได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา อาทิ กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนคอยเตือนกันเมื่อเกิดปัญหา การจัดกิจกรรมระหว่างสถาบันการศึกษาระยะยาว 3-5 ปีเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในกลุ่มนักเรียนอย่างต่อเนื่อง การคิดเชิงบวก และมองตนเองว่าเป็นผู้มีอนาคต มีงานและมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวรวมถึงตนเอง มีสติคิดก่อนทำ ตลอดจนตระหนักถึงความสูญเสียที่อาจเกิดต่อผู้อื่น ตนเอง ผู้ปกครอง และความไม่ปลอดภัยทางสังคม ซึ่งแม้นักเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นและสังคม
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาทเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งการอบรมให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากการทะเลาะวิวาทและความรุนแรงให้แก่นักเรียนและนักศึกษา จะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร และไม่สามารถทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมทันที แต่จำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง เช่น การนำนักเรียนที่ขัดแย้งระหว่างกันได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม การเข้าค่ายเพื่อให้ใช้ชีวิตร่วมกัน ตลอดจนการเข้ามาทำงานอาสาสมัครร่วมกับกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมกับประเมินผลควบคู่ไปด้วย เพื่อไม่ให้นักเรียนเหล่านี้เสียโอกาสในการพัฒนาตนเอง อีกทั้งเป็นเสาหลักให้แก่ครอบครัว และพลเมืองที่ดีของประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ กทม.พร้อมด้วย ผู้บริหารโรงเรียนอาชีวศึกษา สถานีตำรวจนครบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันกำหนดแผนบูรณาการลดปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาท ได้แก่ การกำหนดพื้นที่เสี่ยง 50 เขต หรือ Red Zone ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 102 จุดจาก 37 เขต อีก 13 เขตไม่พบว่ามีจุดเสี่ยง การเพิ่มศูนย์รับปัญหาทั้งในระดับเขตและกลุ่มเขต จัดเข้าค่ายคุณธรรมกิจกรรมสัมพันธ์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น ทำความสะอาดวัด มัสยิด ป้ายรถเมล์