กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--
โครงการจัดสร้างพระพุทธรูป พระพุทธบูรพาปาริสุทธื์ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของประชาชนทุกภาคส่วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำปัจจัยจากการบริจาค ร่วมสมทบทุนในการก่อสร้างอาคาร หอศิลป์พ่อหลวง (อาคารดินประหยัดพลังงาน) ณ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ สัตหีบ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จำนวน ๘๔ ภาพ หลังจากนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ตามโครงการ "วาด ๘๔ รูป เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา" ของชมรมธุลีไท นอกจากนี้ ยังจะนำปัจจัยที่ได้ไปใช้ เพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ ต่อไป
พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์ เป็นผลงานการออกแบบและตรวจคุมการปั้น-หล่อ ของอาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์ ศิลปินอิสระและประธานชมรมธุลีไท เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย โดยมีพุทธลักษณะเป็นรูปแบบเฉพาะ กล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประกอบด้วยซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่เคยปรากฏเห็นที่ใดมาก่อน มีจุดเด่นอันเป็น สัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความเป็นภาคตะวันออกที่บริเวณฐานด้านล่าง ได้แก่ ภาพดวงอาทิตย์แผ่รัศมีอยู่บนผ้าทิพย์ ลวดลายของคลื่นน้ำสอดแทรกด้วยสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลนานาชนิด เป็นต้น
ที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้าง พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ อาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์ พร้อมทั้งครอบครัว ได้ย้ายถิ่นฐานจาก กรุงเทพฯ มาอาศัยในแผ่นดินภาคตะวันออก ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เกิดความประทับใจในสิ่งแวดล้อมที่เป็น ธรรมชาติ ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลที่มีมากมาย นอกจากนี้ ดินแดนภาคตะวันออก ยังได้รับการกล่าวขาน ว่าเป็นแหล่งอัญมณีแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศอีกด้วย
ครั้นสบโอกาสในวันเกิดของท่านศิริชัย คุณจักร อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค ๒ เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๓ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ชื่นชอบและสะสมพระพุทธรูป อาจารย์ธีระพันธุ์จึงวาดภาพพระพุทธรูปขึ้น เพื่อมอบเป็น ของขวัญวันเกิดแด่ท่านศิริชัย โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความเป็นภาคตะวันออก และตั้งชื่อ ว่า พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์
๑
เมื่อท่านอธิบดีศิริชัย คุณจักร ได้เห็นความงดงาม ประกอบกับนามที่เป็นมงคลของพระพุทธบูรพา- ปาริสุทธิ์ ซึ่งแสดงนัยแห่งความเป็นภาคตะวันออก จึงดำริที่จะจัดสร้างเป็นพระพุทธรูปสำหรับบูชาและแจกจ่ายเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อได้พูดคุยกันในระหว่างกลุ่มคนใกล้ชิด ปากต่อปาก ทำให้เกิดขยายผลออกไปยังประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งต่างก็มีความคิดเห็นตรงกันว่าสมควรที่จะจัดสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ได้มี พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์ ไว้บูชาประจำครัวเรือน
เบื้องต้น ทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจ รวบรวมทุนทรัพย์ของตน เพื่อดำเนินการสร้างต้นแบบพระพุทธรูป พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์ จากภาพวาดของอาจารย์ธีระพันธุ์ และขอให้อาจารย์ธีระพันธุ์ ในฐานะของผู้ออกแบบ เป็นผู้ตรวจคุมการปั้น การหล่อ เพื่อให้พระพุทธรูปงดงามดังเจตนา
ในการนี้ ท่านอธิบดีศิริชัย คุณจักร พร้อมทั้งอาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์และคณะ ได้นำเรื่องเข้าพบ กราบเรียนปรึกษาท่านอธิบดีสมเกียรติ เจริญสวรรค์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๒ เพื่อเล่ารายละเอียดความเป็นมาของการจัดสร้างพระ พร้อมทั้งเรียนเชิญท่านอธิบดีสมเกียรติ เป็นประธานในพิธีเททองหล่อองค์พระด้วย ซึ่งท่านอธิบดีเมตตาให้เกียรติรับเป็น ประธานในงานเททองหล่อพระพุทธรูป พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์ ที่จะมีขึ้นในวาระต่อไป
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรม ในรูปแบบสามัคคีศิลป์ผ่านองค์พระ
๒. เพื่อนำปัจจัยจากการบริจาค ร่วมสมทบทุนก่อสร้างอาคารหอศิลป์พ่อหลวง (อาคารดินประหยัดพลังงาน) เพื่อประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จำนวน ๘๔ ภาพ ในลักษณะของนิทรรศการถาวร รวมทั้งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และองค์พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์
๓. เพื่อนำปัจจัยจากการบริจาค ร่วมสมทบทุน โครงการ "วาด ๘๔ รูป เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา" ของชมรมธุลีไท
๔. เพื่อนำปัจจัยจากการบริจาค ร่วมสมทบทุนการก่อสร้าง พระอุโบสถประหยัดพลังงาน วัดหนองข่า (จุลบรรพรต) จ.ชลบุรี
๕. เพื่อนำปัจจัยจากการบริจาค ร่วมสมทบทุนการก่อสร้างสาวิกาสิกขาลัย มหาวิชชาลัยธรรมะเพื่อเยียวยาสังคม (เป็นอาคารประหยัดพลังงาน) ณ เสถียรธรรมสถาน
ศิลป์แห่งองค์พระ
อาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์ ได้ออกแบบสร้างสรรค์พระพุทธรูป พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์ ในลักษณะของพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีพุทธลักษณะพิเศษเป็นรูปแบบเฉพาะ ต่างจากพระพุทธรูปปางมารวิชัยอื่นๆ กล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประกอบด้วยซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่เคยปรากฏเห็นที่ใดมาก่อน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการที่จังหวัดในภาคตะวันออกมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักว่าเป็นแหล่งอัญมณี อาจารย์จึงได้นำมาเป็นต้นคิดออกแบบให้มีพุทธลักษณะเป็นพระที่มีเครื่องทรง สามารถประดับอัญมณีต่างๆ เพื่อเป็นพุทธบูชาได้ ซึ่งมีคติบางความเชื่อ กล่าวถึงการสร้างพระทรงเครื่องว่าเกิดจากการที่ แผ่นดินใดมีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่สุขสบาย ร่ำรวยเงินทอง จึงได้นำอัญมณีแก้วแหวนเงินทอง ประดับประดาบนองค์พระพุทธรูปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
๒
ด้วยความศรัทธาและความเชื่อในบารมีแห่งความสามัคคี อาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์ จึงใช้แนวคิดในการออกแบบโดยรวบรวมสิ่งมีชีวิตต่างๆ นำมาประกอบเข้าในงานพุทธศิลป์ชิ้นนี้ อาทิ
ซุ้มเรือนแก้ว
ตอนบน เป็นลวดลายสอดแทรกนก สื่อถึงการตื่น ความเบิกบานที่มีอิสระและงดงามบนท้องฟ้าในยาม
รุ่งอรุณ
รองลงมา เป็นลวดลายสอดแทรกคชสีห์ (ช้างประสมกับราชสีห์) ผู้เป็นใหญ่และดูแลภาคพื้นดิน ป่าไม้ ภูเขา ให้อุดมสมบูรณ์
เบื้องล่าง เป็นลวดลายพญานาค ผู้ควบคุมดูแล ใต้บาดาล
ฐานพระ
ออกแบบให้มีสัตว์น้ำซึ่งปรากฏพบเห็นในภาคตะวันออก จำนวน ๙ ชนิด คือ กุ้ง หอย ปู ปลา พะยูน โลมา เต่า หมึก และม้าน้ำ แหวกว่ายอยู่ตาม เกลียวคลื่นแห่งท้องทะเล
การอยู่ร่วมกันของนานาสรรพชีวิต เป็นการสอดแทรกวิถีแห่งความสามัคคีที่เหล่าชนในชาติซึ่งอาศัยอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร จะได้ตระหนักรู้ รัก สามัคคี เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นราชพลีแด่
พระผู้ครองแผ่นดิน
ความหมายของชื่อและคำต่างๆ
พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์ เรียกได้ว่าเป็น สามัคคีพุทธศิลป์ ด้วยความหมายแห่งถ้อยคำดังนี้
พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์
คำว่า บูรพาปาริสุทธิ์ แสดงถึงความบริสุทธิ์แห่งภาคตะวันออก
ในความยุติธรรม ย่อมปรากฏซึ่งความบริสุทธิ์
เมื่อบริสุทธิ์ จึงบังเกิดความยุติธรรม
หากไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรมก็ไม่เกิด ดังถ้อยคำที่ว่า บริสุทธิ์ ยุติธรรม
ดังนี้ จึงเกิดแนวคิดที่จะเรียนเชิญ ท่านอธิบดีผู้พิพากษา ภาค ๒ เป็นประธานในการเททองหล่อพระ
เพื่อแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ยุติธรรม ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
สามัคคีศิลป์
การจัดสร้างพระพุทธรูป พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์ จัดเป็นสามัคคีศิลป์ เนื่องจากมีการนำช่างฝีมือทางศิลปะ แขนงต่างๆ มาสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ได้แก่
- ช่างออกแบบ - ช่างปั้น
- ช่างแกะลาย - ช่างดุนลาย
- ช่างหล่อ - ช่างประดับอัญมณี
ฯลฯ
๓
พุทธศิลป์
หมายถึง ผลงานศิลปะชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยพลังอันบริสุทธิ์ จิตที่เป็นพุทธะ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ช่าง ประชาชนทุกหมู่เหล่า ล้วนสร้างพุทธศิลป์ร่วมกันได้ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่ที่จิตอันตั้งมั่นที่จะน้อมทำความบริสุทธิ์ใส ให้กระจ่างต่อวัตถุประสงค์ได้เพียงใด สมมติแห่งศรัทธาชิ้นหนึ่งหรือองค์หนึ่งนั้น สามารถสร้างความปีติอิ่มเอิบให้แก่จิตใจ จนเป็นบันไดไปสู่การปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบได้ มหากุศลย่อมเกิดแก่ผู้สร้าง นับเป็นกรรมฝ่ายดีที่ควรสั่งสมให้เป็น นิสัยตามส่ง เพื่อความเจริญสุขได้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
พุทธศิลป์เพื่อเป็นพุทธบูชา พัฒนาความงามด้วยจิตสำนึกทางศิลปะเข้าไปในองค์พระพุทธรูปเพื่อสร้างภาพจำ ที่เปี่ยมด้วยวิจิตรศรัทธา นำถวายบูชาแด่พระพุทธศาสดา ถวายบูชาแด่พุทธปัญญา (พระธรรมคำสอน) และถวายบูชา แด่พุทธอริยสงฆ์ พุทธอริยสาวก พุทธอริยสาวิกา
การร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อรับพระเป็นบรรณาการ
พระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์ ที่จัดสร้างขึ้นในครั้งนี้ประกอบด้วย
- พระหน้าตัก ๙ นิ้ว เนื้อทองเหลืองขัดเงิน (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๓๙,๙๙๙ บาท)
จัดสร้างขึ้นเพียง ๙๙ องค์
- พระหน้าตัก ๙ นิ้ว เนื้อสำริด (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๓๔,๙๙๙ บาท) จัดสร้างขึ้นเพียง ๙๙ องค์
- พระหน้าตัก ๕ นิ้ว เนื้อทองเหลืองรมดำ (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๑๑,๙๙๙ บาท)
จัดสร้างขึ้นเพียง ๒,๙๙๙ องค์
- พระหน้าตัก ๕ นิ้ว เนื้อสำริด (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๑๒,๙๙๙ บาท)
จัดสร้างขึ้นเพียง ๒,๙๙๙ องค์
- พระกริ่งบูรพา เนื้อเงิน (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๑,๙๙๙ บาท) จัดสร้างขึ้นเพียง ๒,๙๙๙ องค์
- พระกริ่งบูรพา เนื้อสำริด (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๖๙๙ บาท) จัดสร้างขึ้นเพียง ๔,๙๙๙ องค์
- พระกริ่งบูรพา เนื้อทองแดง (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๕๙๙ บาท) จัดสร้างขึ้นเพียง ๔,๙๙๙ องค์
- พระกริ่งบูรพา เนื้อนวโลหะ (๑ องค์ สำหรับเงินบริจาค ๔๙๙ บาท) จัดสร้างขึ้นเพียง ๔,๙๙๙ องค์
ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อรับพระเป็นบรรณาการได้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โครงการจัดสร้างพระพุทธบูรพาปาริสุทธิ์ หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๖-๕๔๘-๕๓๒๓, ๐๘๖-๑๑๑-๑๗๔๒, ๐๘๖-๓๔๔-๔๗๕๕, ๐๘๑-๕๗๒-๕๓๙๗ หรือ www.praburapha.org / email: prabupha@gmail.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0863750309 ชนมน วิริยะ