กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ แนะองค์กรไทยเร่งนำแนวคิดการเพิ่มผลผลิต หรือ Productivity ไปปฏิบัติ เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป เผย “ภาวะผู้นำ” และ “หลักบริหารตามเกณฑ์ TQA” เป็นแนวทางในการเพิ่มผลผลิตให้องค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ภาคธุรกิจไทยเดินไปข้างหน้า และสามารถแข่งขันได้บนเวทีโลก
ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งล้วนมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันขององค์กรธุรกิจและประเทศไทย ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงต้องมีการพัฒนาปรับปรุง โดยเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และนำแนวคิดในการเพิ่มผลผลิต (Productivity) ไปปฏิบัติ เพื่อรับมือกับการแข่งขันทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น คือ ภาวะผู้นำองค์กร
“ปัจจุบัน หลายองค์กรมีปัญหาเรื่องการขาดภาวะผู้นำ ผู้บริหารไม่สามารถสร้างแรงจูงใจ ไม่สร้างบรรยากาศ และไม่ได้สร้างวิสัยทัศน์ที่จะพาองค์กรเดินไปข้างหน้าเพื่อสู้กับคู่แข่งในอีก 4-5 ปีข้างหน้า สิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องมีคือความใฝ่รู้ ทำงานหนัก และอย่าสั่ง แต่ต้องขายไอเดีย ผู้นำต้องมองภาพรวมให้ได้และวางแผนงานเหมือนกับการเดินหมากรุก รวมทั้งต้องมีการสื่อสารที่ดีภายในองค์กร เพื่อให้พนักงานเข้าใจ สามารถจูงใจและกระตุ้นให้ทุกคนในองค์กรมุ่งสู่จุดหมายเดียวกันได้” ดร.พานิช กล่าว
ภาวะผู้นำเป็น 1 ใน 7 เกณฑ์ของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ** หรือ TQA ซึ่งเปรียบเสมือนหลักธรรมสำหรับองค์กร ดร.พานิช กล่าวว่า TQA ไม่ได้บอกให้องค์กรทำอะไร แต่เป็นเครื่องช่วยให้ผู้นำองค์กรคิด TQA เพียงแต่วางกรอบแนวทางให้รู้ว่าจะต้องทำด้วยวิธีการอย่างไร จึงจะแก้ไขปัญหาหรือบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้ เปรียบเสมือนธรรมะขององค์กร ซึ่งหากเข้าใจหลักธรรมแล้ว แต่ละองค์กรจะปฏิบัติอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำ สภาพแวดล้อม และความท้าทายทางกลยุทธ์ขององค์กรแต่ละแห่ง
ดร.พานิช กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารแบบ TQA นั้นเหมือนกับต้นไม้ จากรากขึ้นไปเป็นกิ่ง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะหาพบ เพราะเรารู้ว่าต้นตอเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้องค์กรหลายแห่งให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่อยากให้ผู้บริหารคิดว่าจะบริหารแบบ TQA เพื่อให้ได้รับรางวัลอย่างเดียว อยากให้คิดว่า TQA เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร ซึ่งปัจจุบัน มีบางองค์กรที่บริหารตามแนว TQA โดยไม่รู้ตัว เช่น บริหารโดยใช้ข้อมูลที่ดี ดูแลพนักงานที่ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองขององค์กร มีการวางวิสัยทัศน์และมีตัววัดอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของ TQA และหากนำเกณฑ์ TQA มาใช้ในการดำเนินงานครบทุกเกณฑ์ ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น
**เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ 7 หมวด ประกอบด้วย การนำองค์กร การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ การมุ่งเน้นบุคลากร การจัดการกระบวนการ และ ผลลัพธ์
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
อุษณีย์ ถาวรกาญจน์ บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร.0 2 354 3588 Email : usanee@incom.co.th