รมว.พม.เปิดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ถกแนวทางร่วมแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองและการค้ามนุษย์

ข่าวทั่วไป Wednesday September 22, 2010 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--พม. วันนี้ (๒๒ ก.ย.๕๓) เวลา ๐๙.๓๐ น. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุม “Asia-Pacific Regional Preparatory Meeting to the Global Forum on Migration and Development (GFMD) ครั้งที่ ๔” จัดโดยคณะทำงาน Asia-Pacific Regional Thematic Woking Group on International Migration Including Human Trafficking เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ประเทศไทย ถือเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่าน และ ปลายทางของการโยกย้ายถิ่นฐาน การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานและการพัฒนา รวมทั้งการโยกย้ายถิ่นฐานข้ามชาติ โดยจะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ หาแนวทางแก้ปัญหาของการโยกย้ายถิ่นฐานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในประเด็นโยกย้ายถิ่นฐานในระดับภูมิภาคและระดับโลก จากประเด็นการหารือทั้งหมด ๔ หัวข้อย่อย ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ นี้ ได้แก่ ๑.) การโยกย้ายถิ่นฐานและสาธารณสุข ๒.) ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐานแบบปกติ และการคุ้มครอง และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ ๓.) การเคลื่อนย้ายประชากรโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมิติหญิงชาย และครอบครัว และ ๔.) การเชื่อมโยงระหว่างการโยกย้ายถิ่นฐานและการพัฒนา นายอิสสระ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยได้ทำงานทั้งในระดับชาติ และอนุภูมิภาค ในการส่งเสริมให้มีการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข และการศึกษาเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมถึงการออกกฎหมายด้านการโยกย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาค ไทยยังได้มีส่วนร่วมในกระบวนการบาหลี ในการแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง และการค้ามนุษย์ และกระบวนการโคลัมโบในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้อพยพโยกย้ายถิ่น โดยในปี 2007 ประเทศเทศได้ลงนามใน the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) declaration on the protection and promotion of the rights of migrant workers และในปี 2008 ได้มีการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองทั้งชาวไทย รวมถึงแรงงานต่างด้าวด้วย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ