บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง เริ่มโรดโชว์ 23-28 ก.ย.นี้ ชี้พื้นฐานแข็งแกร่ง-อนาคตสดใส มั่นใจ นลท.สถาบันให้ความสนใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 22, 2010 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--IR network บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง เริ่มเดินสายโรดโชว์นักลงทุนสถาบัน ระหว่าง 23-28 ก.ย.นี้ “กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์” มั่นใจด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของ GUNKUL ผนวกกับอนาคตที่สดใส จากแผนการขยายธุรกิจเดิมให้มีฐานที่กว้างขึ้นแล้ว ยังรุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ด้วยการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ กฟภ. ซึ่งได้รับค่า adder เพิ่มหน่วยละ 8 บาท โดยจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป ดังนั้นทำให้มั่นใจกระแสตอบรับจากนักลงทุนล้นหลาม ด้านความคืบหน้าของการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ภายในเดือน ต.ค.นี้ นายกัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23-28 กันยายน 2553 มีกำหนดที่จะนำเสนอข้อมูลให้แก่นักลงทุนสถาบันในประเทศ (Road Show) เพื่ออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ แผนการขยายธุรกิจ และแผนการดำเนินงานในอนาคตของ GUNKUL โดยมีความมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน “ผลการดำเนินงานของ GUNKUL ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และในปี 2553 ก็คาดว่าจะขยายตัวได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 ที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศมีการฟื้นตัว ผนวกกับการทำงานในเชิงรุกมากขึ้นของทีมงานทำให้สามารถเพิ่มปริมาณขายและมูลค่าการขายให้มากขึ้น ขณะเดียวกันตลาดต่างประเทศของ GUNKUL ก็ได้รับผลบวกจากนโยบายของภาครัฐในต่างประเทศที่เน้นขยายงานทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานทำให้เป็นแรงหนุนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ผลประกอบการของ GUNKUL ปีนี้โดดเด่นขึ้นมามาก” เขากล่าวต่อว่า GUNKUL ยังมีอีกธุรกิจที่น่าสนใจและในอนาคตจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทมีอัตราการขยายตัวที่ดีและเป็นการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ นั่นก็คือธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงาน ทดแทน โดยที่ผ่านมา บริษัท กันกุล พาวเวอร์เจน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GUNKUL ( บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ถือหุ้นใน บริษัท กันกุล พาวเวอร์เจน จำกัด ร้อยละ 99.99) ได้ลงนาม ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งจะมีการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟภ. ขนาด 30.9 เมกกะวัตต์ เป็นระยะเวลานาน 25 ปี โดย “กันกุล พาวเวอร์เจน” จะได้รับการสนับสนุนส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (adder) ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่หน่วยละ 8 บาท ในช่วงเวลา 10 ปีแรก เนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) ทั้งนี้การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าขนาด 30.9 เมกกะวัตต์ จะแบ่งออกเป็น 6 โครงการ สำหรับโครงการที่ 1 เฟสแรกขนาด 3 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้ในไตรมาส 4/2553 และเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป ส่วนเฟสที่ 2 ขนาด 4.4 เมกกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้ไตรมาส 3/2554 ส่วนที่เหลืออีก 23.5 เมกกะวัตต์ คาดว่าจะทยอยก่อสร้างและเริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้ภายในปี 2555 “นอกจากการดำเนินธุรกิจปกติของ GUNKUL ที่ขยายตัวดีต่อเนื่องทุกปีอยู่แล้ว เรายังรุกไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งอาจถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งของ GUNKUL แต่เป็นจุดเปลี่ยนที่ผมเชื่อมั่นว่าจะทำให้กิจการมีความเจริญก้าวหน้าและมีการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต ดังนั้นจึงทำให้มั่นใจในช่วงที่ร่วมนำเสนอข้อมูล (Road Show)โรดโชว์ให้กับนักลงทุนสถาบันระหว่างวันที่ 23-28 กันยายนนี้ หุ้นไอพีโอ GUNKUL จะได้รับความสนใจอย่างมากครับ”นายกัลกุล กล่าวในที่สุด นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นสามัญของ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง กล่าวว่าการโรดโชว์เพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุนสถาบันในครั้งนี้จะทำให้นักลงทุนมีความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจ รวมไปถึงแผนการดำเนินงานในอนาคตของ GUNKUL มากขึ้นและทราบถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรม และยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนด้วย เนื่องจาก GUNKUL เป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรม จึงน่าจะเป็นที่จุดเด่นของบริษัทที่ทำให้นักลงทุนมีความสนใจ และเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี และในส่วนของการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ยังคงเป็นไปตามแผนงานที่วางเอาไว้ โดยคาดว่าจะระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ได้ภายในเดือน ตุลาคมนี้ ปัจจุบัน บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 300 ล้าน แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 100 ล้านหุ้น จะมีทุนชำระแล้วเป็น 400 ล้านบาท โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์จะนำไปลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อทดแทนเครื่องจักรเดิม ลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ