กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--พพ.
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการขอรับการสนับสนุนเพื่อติดตั้งระบบทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ปีที่ 3 ระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกับสถานประกอบการ
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สนับสนุนเงินเพื่อติดตั้งระบบทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์แก่สถานประกอบการ จำนวน 40 ราย ประกอบด้วย โรงแรม 19 แห่ง โรงงาน 13 แห่ง โรงพยาบาล 2 แห่ง สถานศึกษา 2 แห่ง และอาคารธุรกิจ 4 แห่ง โดยผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจาก พพ. จะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา การสนับสนุนครั้งนี้จะทำให้เกิดการติดตั้งแผงรับรังสีดวงอาทิตย์เพื่อผลิตน้ำร้อน รวม 10,000 ตารางเมตร เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 140 ล้านบาท โดย พพ. ให้เงินสนับสนุนเป็นจำนวน 44.7 ล้านบาท และผู้ประกอบการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย 95 ล้านบาท มีระยะเวลาคืนทุน 2.5 ปี สามารถประหยัดได้ 38.6 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นผลประหยัดเท่ากับ 580 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 15 ปี เทียบเท่าการทดแทนน้ำมัน 1.25 ktoe/ปี และ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) เท่ากับ 3,200 ตันต่อปี ทั้งนี้ พพ. จะสนับสนุนให้ได้ 40,000 ตร.ม. ภายในปี 2554 สามารถทดแทนน้ำมันได้ 5 ktoe คิดเป็นผลประหยัดประมาณ 155 ล้านบาทต่อปี และจะส่งเสริมให้ได้ 300,000 ตารางเมตร ภายในปี 2565 สำหรับทดแทนการใช้น้ำมันได้ 38 ktoe ต่อปี คิดเป็นผลประหยัดเท่ากับประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี”
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า “ปัจจุบันมีกิจกรรมหลายประเภทที่จำเป็นต้องใช้น้ำร้อน เช่น โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน ฟาร์มปศุสัตว์ ร้านซักรีด ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซ ไฟฟ้า น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำร้อน หากเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับใช้ความร้อนเหลือทิ้งที่มีอยู่เดิม เช่น ความร้อนเหลือทิ้งจากชุดระบายอากาศของเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น ปล่องไอเสีย จะเป็นวิธีการที่ประหยัดมากกว่า พพ. จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการใช้น้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสานอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใช้ระบบผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อย่างแพร่หลาย โดยสนับสนุนเงินลงทุนประมาณ ร้อยละ 30 แก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระบบผสมผสาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจากการลงทุนผลิตอุปกรณ์ระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระบบผสมผสาน อีกด้วย”