กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--เอชเอสบีซี
เอชเอสบีซีเผยผู้จัดการกองทุนมองตลาดหุ้นสดใส ***ให้น้ำหนักกับตลาดหุ้นในไตรมาส 3/2010***
***เกือบครึ่งเน้นตลาดหุ้นในเอเชีย แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น)***
***ตลาดเกิดใหม่และตลาดจีนแนวโน้มดี แต่การลงทุนยังต้องระมัดระวัง***
เอชเอสบีซี เผยผลสำรวจความคิดเห็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำทั่วโลกในไตรมาส 3/2010 พบว่า มีจำนวนผู้จัดการกองทุนให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 50 เพิ่มจากร้อยละ 40 ในไตรมาสก่อน) ผลสำรวจยังพบว่า แม้ว่ามีเงินทุนไหลเข้าลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ปริมาณสูงมาก แต่ผู้จัดการกองทุนยังมองว่าการลงทุนในหุ้นบางตัวยังมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลตอบแทนดี โดยส่วนใหญ่มองว่าการลงทุนในหุ้นมีแนวโน้มดีกว่าพันธบัตร มีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่เห็นว่าตลาดพันธบัตรน่าลงทุนกว่า
ผลสำรวจยังพบว่า มีผู้จัดการกองทุนจำนวนเพิ่มขึ้นที่มองว่าหุ้นในตลาดเติบโตเร็วในแถบเอเชีย แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีอนาคตสดใส (ร้อยละ 44 เพิ่มจากร้อยละ 38 ในการสำรวจเมื่อไตรมาสที่แล้ว)
มร. บรูโน ลี ผู้อำนวยการบริหาร แผนกบริหารความมั่งคั่ง ฝ่ายบุคคลธนกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “ในการสำรวจครั้งนี้ ไม่มีผู้จัดการกองทุนรายใดที่ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นหรือตลาดพันธบัตรเลย แม้ว่าหลายฝ่ายจะยังกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และแม้ว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้าสู่กองทุนตราสารหนี้ปริมาณสูงมาก ผลสำรวจพบว่า ผู้จัดการกองทุนยังเลือกลงทุนในตลาดหุ้นบางแห่งที่ให้ผลตอบแทนดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเติบโตเร็วแถบเอเชีย แปซิฟิกที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ และยังกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ยังคงน้ำหนักการลงทุนในตลาดพันธบัตรในไตรมาสนี้”
แม้ว่าจะไม่มีผู้จัดการกองทุนรายใดที่ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นจีน แต่ผลสำรวจในไตรมาสนี้พบว่า ผู้จัดการกองทุนที่มองว่าตลาดหุ้นจีนจะมีแนวโน้มสดใสมีจำนวนน้อยลง (ร้อยละ 50 ลดจากร้อยละ 71 ในไตรมาส 2/2010) และมีจำนวนมากขึ้นที่คงน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นจีน (ร้อยละ 50 เพิ่มจากร้อยละ 29 ในไตรมาส 2/2010) สำหรับตลาดหุ้นเกิดใหม่ มีผู้จัดการกองทุนจำนวนเพิ่มขึ้นที่คงน้ำหนักการลงทุนเช่นเดิมในไตรมาสนี้ (ร้อยละ 33 จากร้อยละ 0 ในไตรมาสที่แล้ว) ส่วนที่เห็นว่าหุ้นในตลาดเกิดใหม่จะมีแนวโน้มร้อนแรงกลับมีจำนวนน้อยลง (ร้อยละ 67 จากร้อยละ 75 ในไตรมาสที่แล้ว)
ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้จัดการกองทุนยังคงระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้ว โดยผู้จัดการกองทุนที่ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาเหนือในไตรมาส 3/2010 มีจำนวนมากขึ้นเป็นเท่าตัว (ร้อยละ 22 เทียบกับร้อยละ 11 ในการสำรวจไตรมาสที่แล้ว) อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของผู้จัดการกองทุนที่มองเป็นกลางในตลาดหุ้นยุโรปรวมสหราชอาณาจักร และตลาดหุ้นญี่ปุ่นในไตรมาสนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33 (จากร้อยละ 22 ในไตรมาสที่แล้ว) และร้อยละ 67 (จากร้อยละ 13 ในไตรมาสที่แล้ว) ตามลำดับ โดยเป็นการปรับมุมมองการลงทุนดีขึ้นจากที่เคยลดน้ำหนักการลงทุนเมื่อไตรมาสที่แล้ว
ธนาคารเอชเอสบีซีสำรวจและวิเคราะห์ความคิดเห็นของบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำของโลกรวม 12 แห่ง1 เป็นประจำทุกไตรมาส โดยวิเคราะห์ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการ (funds under management: FUM) ความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดตราสารต่างๆ (asset allocation views) และกระแสเงินลงทุนทั่วโลก (global money flows) ทั้งนี้ประมาณการกระแสเงินลงทุนสุทธิ (net money flow estimates)2 คำนวณจากความเคลื่อนไหวของปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการ เปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดตราสารประเภทเดียวกัน ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2010 ปริมาณเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุนทั้ง 12 แห่งที่ร่วมในการสำรวจครั้งล่าสุดอยู่ที่ 3.24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 14.8 ของปริมาณเงินลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก (total global FUM)3
กระแสเงินลงทุนทั่วโลกในไตรมาส 2/2010
ผลการสำรวจพบว่าเมื่อสิ้นไตรมาส 2/2010 ปริมาณเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการลดลง 161.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 4.75 จากไตรมาส 1/2010 โดยกองทุนหุ้นมีปริมาณเงินลดลงสูงที่สุดราว 147.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กองทุนพันธบัตรมียอดเงินสูงขึ้น 38.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนกองทุนที่ลงทุนในตลาดเงิน กองทุนผสม และกองทุนอื่นๆ มีปริมาณเงินลงทุนลดลงรวมกันทั้งสิ้น 52.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ความกังวลของผู้ลงทุนที่มีต่อความเสี่ยงด้านนโยบายทางการเงินของจีน ทำให้มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นจีนจำนวน 625 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2/2010 นับเป็นครั้งแรกหลังจากที่เคยเกิดขึ้นเมื่อไตรมาสที่ 1/2009
มร.ลี กล่าวเสริมว่า “มาตรการคุมเข้มภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจีนได้ส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อผู้ลงทุนและผลประกอบการของตลาด แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกยังมีความไม่แน่นอนและส่งผลต่อผู้ลงทุน แต่เศรษฐกิจของประเทศจีนยังแข็งแกร่ง และมีโอกาสที่จะหวนกลับมาให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจอีกครั้ง”
เมื่อพิจารณาตราสารทุกประเภท ตลาดพันธบัตรยังคงมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามากที่สุดในไตรมาส 2/2010 คิดเป็นเงิน 16.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 19 ส่วนตลาดหุ้นในเอเชีย แปซิฟิก (ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่น) มีเงินลงทุนไหลเข้า 1.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อนหน้า
ธนาคารเอชเอสบีซีได้จัดทำ HSBC Fund Flow Tracker ซึ่งเป็นดัชนีวัดกระแสเงินลงทุนสะสมทั้งหมดเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ไตรมาส 3/2006 เป็นต้นมา พบว่าในไตรมาส 2/2010 กองทุนที่ลงทุนในหุ้นมีผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า โดยมีกระแสเงินไหลออกสุทธิรวม 56.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจาก 75.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 1/2010 และในช่วงเดียวกัน กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรยังคงมีกระแสเงินไหลเข้ารวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 232.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากไตรมาส 1/2010
เงินไหลเข้าสุทธิในตลาดหุ้นจีนโดยรวมอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 7.45 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2/2010 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อปลายปี 2009 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจกลับมาเติบโตเป็นปกติ ปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดหุ้นเอเชีย แปซิฟิก (ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่น) และตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 10.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 26.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ส่วนกระแสเงินไหลเข้าตลาดหุ้นอเมริกาเหนือเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/2010 มาอยู่ที่ระดับ 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 จากไตรมาสก่อนหน้า
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606