กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--พีอาร์ เน็ทเวิร์ค
ไลฟ์สไตล์สาวยุคใหม่ที่โปรดปรานการสวมรองเท้าส้นสูง สะพายกระเป๋าหนักเป็นนิสัย เพลิดเพลินกับการเดินช้อปปิ้ง นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ล้วนเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่สะสมให้เกิดอาการปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากละเลยไม่ดูแลร่างกายให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้องและเหมาะสม เมื่อสะสมนานวันเข้า จะส่งผลให้คุณสาวๆ ต้องเสี่ยงกับ ปัญหาโครงสร้างร่างกายที่ผิดรูปจากการใช้ชีวิตประจำวัน
ไคโรเมด สหคลินิก เข้าใจถึงปัญหาอาการปวดของผู้หญิง จึงจัดกิจกรรมสัมมนา “ผู้หญิงทำงาน กับปัญหาอาการปวด” ขึ้น โดยเชิญ คุณลูกหมี — รัศมี ทองศิริไพรศรี นางแบบสาวชื่อดังและ เวิร์คกิ้งวูแมนรุ่นใหม่ มาร่วมเสวนากับ ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ไคโรเมด สหคลินิก เพื่อไขข้อข้องใจให้กับสาวยุคใหม่ ที่อาจเสี่ยงกับปัญหาโครงสร้างร่างกายที่ผิดรูป จากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นภัยเงียบคุกคามคุณสาวๆ ได้ในทุกช่วงวัย
คุณลูกหมี — รัศมี ทองศิริไพรศรี นางแบบสาวชื่อดัง ถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเองว่า “ปัญหาอาการปวดของตนเองนั้น เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การยืน การใส่รองเท้า ส้นสูง การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ หรือแม้กระทั่งการทำงานในอาชีพอาชีพนางแบบเองที่ต้องโพส ท่าทางต่างๆ จึงทำให้อาจอยู่ในท่าทางที่ผิดและไม่เหมาะสม รวมทั้งแฟชั่นการสะพายกระเป๋าใบใหญ่ๆซึ่งของทุกอย่างสามารถหาได้ในกระเป๋าใบเดียว ทำให้ต้องแบกรับน้ำหนักมากโดยไม่รู้ตัว พฤติกรรมเหล่านี้ เมื่อสะสมนานวันเข้า ร่างกายจึงเริ่มส่งสัญญาณเตือน เริ่มจากการเมื่อยล้า ตึง ตามร่างกาย บริเวณคอ บ่า ไหล่ ในช่วงแรกก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่โรคหรืออาการร้ายแรง แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานวันเข้า ทำให้พบว่าตัวเองมีปัญหากระดูกแนวต้นคอผิดรูป และปัญหาโครงสร้างร่างกายบริเวณช่วงลำตัวและกระดูกอุ้งเชิงกราน ที่เกิดจากการใช้งานร่างกายในท่าทางที่ผิดและสะสมเป็นเวลานาน จึงขอฝากเตือนสาวๆว่า อย่าละเลยกับปัญหาอาการปวดเล็กๆน้อยๆ ทางที่ดีควรหันมาใส่ใจสุขภาพและดูแลโครงสร้างร่างกาย อย่างถูกวิธีเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข”
สำหรับคำแนะนำด้านการดูแลโครงสร้างร่างกายของคุณสาวๆนั้น ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ไคโรเมด สหคลินิค แนะว่า พฤติกรรมของผู้หญิงในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่ออาการปวดของกล้ามเนื้อ, กระดูกและข้อ รวมไปถึงการเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือเสื่อม และบานปลายจนกลายเป็นการกดทับของเส้นประสาทในที่สุด
พฤติกรรมของสาวๆ ที่เสี่ยงกับการเกิดปัญหาโครงสร้างผิดรูป อาทิ
- การใส่รองเท้าส้นสูง ที่มีความสูงมากกว่า 2 นิ้วขึ้นไป
- การนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์,การนั่งขับรถ ฯลฯ
- การเดินช้อปปิ้งติดต่อกันนานหลายชั่วโมง
- การสะพายกระเป๋าหนัก
ดร.มนต์ทณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “คนส่วนใหญ่มากกว่า ร้อยละ 70 มีลักษณะโครงสร้างที่เสียสมดุล มีฝ่าเท้าที่ผิดรูป สังเกตจากการรับน้ำหนักของเท้าทั้งสองข้างว่าเท่ากันหรือไม่ ดังนั้น การเลือกรองเท้าจึงมีความสำคัญ โดยแนะนำให้เลือกรองเท้าที่รองรับอุ้งเท้าเต็มที่ เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักร่างกายอย่างสมดุล ซึ่งการเดินด้วยรองเท้าส้นสูงเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดแรงกดที่ข้อเท้า แรงกระแทกจะเคลื่อนขึ้นไปกดดันภายในหัวเข่า นานวันเข้าอาจทำให้ข้อเสื่อม สำหรับผู้ที่ใส่รองเท้าที่มีความสูงมากกว่า 2 นิ้วขึ้นไป จะทำให้ ข้อต่าง ๆ เปลี่ยนตำแหน่งไป เช่น ตาตุ่ม เข่า สะโพก และลำตัว ทำให้เกิดแรงเค้นที่แผ่นหลังส่วนล่าง โครงสร้างเสียสภาพจากแนวที่สมดุล และก่อให้เกิดการรับน้ำหนักที่มากเกินไปของกระดูก , ข้อและกล้ามเนื้อจึงควรเลือกสวมรองเท้าส้นสูงที่มีความสูงไม่เกิน 2 นิ้ว และใส่สลับกับรองเท้าส้นเตี้ยที่สวมใส่สบาย
การนั่งทำงาน หรือการใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ ควรจะเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 1 — 2 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ยึดเกร็งเป็นเวลานาน ตลอดจนการนั่งขับรถควรให้สะโพกอยู่สูงกว่าเข่า หลังตั้งตรงในมุม 105 องศา ส่วนการสะพายกระเป๋าหนักๆนั้น หากเลี่ยงไม่ได้ให้พยายามอย่าให้น้ำหนักของกระเป๋า กดทับอยู่บนไหล่ข้างเดียวเป็นเวลานานเกินไป ให้สลับข้างบ้าง
ในส่วนของคุณแม่หลังคลอด ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาอาการปวดเพราะร่างกายจะต้องแบกรับน้ำหนักลูกในครรภ์มากขึ้น จนถ่วงท้องด้านหน้าเพิ่มขึ้น โครงสร้างร่างกายจะปรับสภาพโดยการหมุนของแกนกระดูกอุ้งเชิงกรานไปด้านหน้า และเกิดการแอ่นตัวมาด้านหลังของหลังตอนบน เกิดเป็นลักษณะของการแอ่นของหลังตอนล่าง เมื่อแนวโครงสร้างมีการเปลี่ยนแปลง ภาวะการทำงานของกล้ามเนื้อที่พยุงหลังย่อมมีผลกระทบ ทำให้เกิดสภาพไม่สมดุลของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในบางส่วนที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นต้นเหตุให้โครงสร้างหลังเสียความมั่นคงและนำมาสู่ภาวะของอาการปวดได้”
ดร.มนต์ทณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูโครงสร้างร่างกายตั้งแต่ ในระยะ 1 - 2 เดือนหลังคลอด และไม่ควรทิ้งช่วงนานเกิน 3 เดือน เนื่องจากอาการอาจสะสมจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการออกกำลังตามคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและบริเวณข้อต่างๆ ของร่างกาย ตลอดจนดูและใส่ใจกับอิริยาบถต่างๆในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันปัญหาด้านโครงสร้าง”
ทั้งนี้ อาการเตือนของร่างกายที่แสดงออกในช่วงแรก คือ การปวดล้า ตึง เมื่อผ่านระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป อาการมักจะถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น รวมถึงรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เพราะว่าใช้ร่างกายหนักจนเกินไป ต้องพักผ่อน และออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายบ้าง ทั้งนี้ อาการในระยะแรกจะเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ จากนั้นจะส่งกระทบต่อหมอนรองกระดูกและข้อเสื่อม และเมื่ออาการเรื้อรังไปนาน ๆ จะทำให้ระบบเส้นประสาท บริเวณปลายประสาทเกิดการอักเสบได้”
ดร.มนต์ทณัฐ ยังเล่าถึงวิธีการจัดการปัญหาอาการปวดของสาวๆในปัจจุบันว่า “ส่วนใหญ่เมื่อเริ่มมีปัญหาปวด เมื่อย ล้า ตึง ตามร่างกาย สาวๆมักนิยมไปนวดผ่อนคลาย หรือนวดตามสปาต่าง ๆ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เมื่อเรานวดอาการจะดีขึ้น แต่เมื่อใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน จะทำให้อาการกลับมาแย่ลงเช่นเดิม ดังนั้น จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ รวมทั้งการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อก็จะช่วยสร้างภูมิกันให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี”
นอกจากนี้ ดร.มนต์ทณัฐ ยังแนะนำเทคนิคการยืดเส้นยืดสายในท่าทางต่าง ๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ยึดเกร็งเกินไป ดังนี้
การบริหารกล้ามเนื้อคอ
ท่าที่ 1 การยืดกล้ามเนื้อบริเวณด้านข้างคอ เริ่มจากนำมือข้างซ้าย อ้อมไปจับศรีษะด้านขวา จากนั้นดึงมาทางด้านซ้ายจนรู้สึกตึง นับ 1 — 10 จากนั้นสลับโดยใช้มือข้างขวา นับ 1 — 10 เช่นเดียวกัน
ท่าที่ 2 การยืดกล้ามเนื้อบริเวณหลังคอ โดยการประสานมือบริเวณท้ายทอย จากนั้นดันมาด้านหน้าจนรู้สึกตึง นับ 1 — 10
การบริหารกล้ามเนื้อหัวไหล่ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องของการปวดไหล่เป็นประจำ
ท่าที่ 3 การยกไหล่ ขึ้นมาจนสุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1 — 10
ท่าที่ 4 การกดไหล่ลงไปให้สุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1 — 10
การบริหารกล้ามเนื้อด้านหน้าอก และแก้ปัญหาไหล่ห่อ
ท่าที่ 5 ให้ลุกขึ้นยืน จากนั้นนำมือประสานกันด้านหลัง ค่อย ๆ ยกขึ้นมาจนถึงระดับที่เรารู้สึกว่าตึง นับ 1 — 10
ท่าที่ 6 การยืดด้านหลัง โดยการกอดตัวเองให้แน่นที่สุด ให้มือไขว้กันเยอะที่สุด โดยเอามือโอบด้านหลังของตัวเองให้มากที่สุด นับ 1 — 10
การบริหารบริเวณช่วงสะโพก บางคนมีปัญหาปวดบริเวณสะโพก ชาลงเท้า ชาลงขา จะสามารถบริหารท่านี้ได้ดี ท่าบริหารนี้จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก ซึ่งมักจะไปกดทับเส้นประสาททำให้รู้สึกมีปัญหาได้
ท่าที่ 7 นำเท้าซ้าย ขึ้นมาวางทับเหนือข้างขวา จากนั้นเอนตัวมาด้านหน้า จะรู้สึกบริเวณต้นขาด้านซ้าย นับ 1 — 10 จากนั้นสลับเท้าด้านขวา
การบริหารกล้ามเนื้อด้านข้าง
ท่าที่ 8 ยืดมือขึ้นบนสุดประกบกัน จากนั้นเอนตัวทางด้านซ้าย นับ 1 — 10 จากนั้นเอนตัวมาด้านขวา นับ 1 — 10
ท่าบริหารดังกล่าวควรทำบ่อย ๆ ประมาณ 1 — 2 ชั่วโมงต่อครั้ง เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อมัดหลัก ๆ ในร่างกาย สละเวลา 3 — 5 นาที เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดีและแข็งแรง
ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆน้อยของอาการปวดในผู้หญิงทำงานและวิธีการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง หากสนใจหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโครงสร้างร่างกาย ติดต่อ ไคโรเมด สหคลินิก โทร 0 2713 6745 — 6 หรือคลิก www.chiromedbangkok.com
สนับสนุนข้อมูลโดย ไคโรเมด สหคลินิก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทร 0 2682 9880