กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--สสว.
สสว. คัดสรรสินค้าภูมิปัญญาไทยกว่า 120 ผลงาน พัฒนาบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ ตั้งเป้าเตรียมความพร้อมสินค้าก่อน บุกทำตลาดทั้งไทยและเทศ คาดทำรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า ” สสว.ได้ดำเนินกิจกรรมสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ SMEs โดยจัดขึ้นตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของรัฐบาล ภายใต้งบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา SMEs ของไทย โดยใช้ภูมิปัญญาไทยผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างปัจจัยเอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการในการสร้างความแตกต่างของสินค้ารวมทั้งเสริมสร้างโอกาสทางการตลาดของธุรกิจและบริการเชิงสร้างสรรค์ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียน และตลาดส่งออก ซึ่งปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุด ในการค้าโลก”
นายยุทธศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า “โครงการดังกล่าว สสว. ได้ดำเนินการร่วมกับ 5 หน่วยงานร่วม ในการคัดเลือกผู้ประกอบการจาก 5 ภาค ภาคเหนือ ร่วมกับ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคกลาง ร่วมกับ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคตะวันออก ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคใต้ ร่วมกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า การทดสอบตลาดเพื่อผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด จำนวน 114 ราย แบ่งเป็น ภาคกลาง 21 ราย , ภาคเหนือ 25 ราย , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25 ราย , ภาคตะวันออก 22 ราย และ ภาคใต้ 21 ราย โดย สสว. ได้จัดแสดงสินค้าที่ผ่านการบ่มเพาะและพัฒนา ในงานนวัตกรรมและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมไทยเข้มแข็ง เมื่อวันที่ 20 — 22 กันยายน ที่ผ่านมา ณ จามจุรีสแควร์”
นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ”สินค้าที่จัดแสดงภายในงานมีกว่า 120 ผลงาน แบ่งออกเป็น กลุ่มหัตถกรรม กลุ่มอาหาร กลุ่มซอฟต์แวร์ , กลุ่มเครื่องประดับ และท่องเที่ยวบริการ ซึ่งผลงานเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก เนื่องผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าและบริการบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี จากการนำข้อเสนอแนะต่างๆ อาทิ การค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์ด้วยภูมิปัญญาไทยผสมผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงการให้ความสำคัญกับศักยภาพและมาตรฐานการผลิต ช่องทางการตลาด ไปใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการ จนออกมาเป็นสินค้าที่หลากหลาย อาทิ ข้าวหลามพร้อมเสิร์ฟแม่เจริญ ที่พัฒนาข้าวหลามในบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่สะดวก ต่อการรับประทาน เพื่อลดการใช้วัสดุธรรมชาติที่สิ้นเปลือง และเพิ่มช่องทางตลาดที่กว้างขึ้น สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ ในรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ Ready to eat , ปลาร้าผงภา — ทอง ในบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการบริโภค , แกงไทยกึ่งสำเร็จรูป , เว็บไซต์ตลาดอีสานดอทคอม เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและส่งเสริมการขายสินค้า OTOP ภาคอีสาน , ยาสีฟันไทยไชโย , หนังตะลุงช่างสงควนเนียง จิตรกรรมบนแผ่นหนังตะลุง ยิ่งบาติกเพ้นท์อาร์ต , Dimention คิ้วบัวปูนหลุยส์ตกแต่งผนัง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ สสว. ยังส่งเสริมด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยภายในงานได้เชิญผู้แทนจากภาคธุรกิจ และภาครัฐเข้าชมสินค้าและร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบ ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายมีแนวโน้มที่จะขยายช่องทางการตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าต่างประเทศได้ ทั้งในกลุ่มประเทศยุโรปและเอเชีย ขณะที่ผู้ประกอบการ ในกลุ่มสินค้าที่เน้นลูกค้าในประเทศนั้น สามารถพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างจากสินค้าตามท้องตลาด รวมทั้งยังเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แข่งขันได้ในตลาดนอกจากการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว และคาดว่า ผลจากการ ดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท” นายยุทธศักดิ์ กล่าว