ผลการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังเอเปค

ข่าวทั่วไป Thursday September 23, 2010 14:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายนริศ ชัยสูตร รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย หลังจากกลับจากการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Deputies’ Meeting : APEC FDM) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดเผยว่า การประชุม APEC FDM ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ที่จะมีในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2553 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนายกรณ์ จาติกวณิช จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว) เพื่อหารือในด้านภาวะเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก การบริหารนโยบายการคลัง การจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยในปีนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค จะมีการจัดทำยุทธศาสตร์เกียวโตเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ (Kyoto Growth Report) เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเอเปคที่จะมีขึ้น ณ เมืองโยโกฮามา ในเดือนพฤศจิกายน ในการประชุม APEC FDM ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก และในภูมิภาคเอเปค ซึ่งในส่วนของเศรษฐกิจโลกนั้นกองทุนการเงินระหว่างประเทศรายงานว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้นในครึ่งปีแรกของ 2553 นั้นจะชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังของ 2553 และอาจจะต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปี 2554 เนื่องจากยังมีความเสี่ยงด้านฐานะการคลังของประเทศต่างๆ และความอ่อนแอในการกำกับดูแลภาคการเงินที่ยังมีอยู่ในบางประเทศ อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้นธนาคารพัฒนาเอเชียเห็นว่าเศรษฐกิจของนั้นกำลังฟื้นตัวในลักษณะ V-Shape เนื่องจากระบบสถาบันการเงินในภูมิภาคนี้มีความมั่นคงกว่าภูมิภาคอื่น แต่เสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นขึ้นกับการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสม จากการหารือ ที่ประชุมได้มีความเห็นสอดคล้องกันว่าสมาชิกเอเปคควรจะมีการดำเนินการร่วมกันในด้านแนวทางการปรับภาวะการคลังเข้าสู่สมดุลและแนวทางการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินที่เหมาะสม นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือร่างยุทธศาสตร์เกียวโต เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งร่างดังกล่าวประกอบด้วยประเด็นหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของกรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ดังนี้ 1. สังคมผู้สูงอายุและความยั่งยืนทางการคลัง (Aging and Fiscal Sustainability) ซึ่งเป็นความท้าทายของสมาชิกเอเปคในการบริหารการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องบำเหน็จบำนาญและบริการด้านสุขภาพ ดังนั้นสมาชิกเอเปคจึงอาจยืดอายุวัยเกษียณออกไปอีก 3-5 ปี หรือ ใช้มาตรการภาษีเพื่อเร่งรัดให้สัดส่วนการออมภาคประชาชนมีสูงขึ้น 2. การจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Finance) เนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภูมิภาคเอเชียมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สมาชิกเอเปคจึงควรหาแนวทางพัฒนาแหล่งเงินทุนทางเลือกต่างๆ เพื่อให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และลดภาระของงบประมาณรัฐ เช่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเครดิต การขยายขอบเขตของหลักประกันเงินกู้ การลดต้นทุนสินเชื่อของ SMEs การพัฒนาตลาดทุน รวมถึงการพัฒนาระบบประเมินผลการดำเนินงานของ SMEs 3. การจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับบริการด้านการเงินฐานราก (Micro Finance) ปัจจุบันบริการด้านการเงินฐานราก หรือ Micro Finance ยังมีปัญหาหลักในเรื่องของแหล่งเงินทุนที่ไม่เพียงพอและปัญหาประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง สมาชิกเอเปคจึงควรมีแนวนโยบายส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การทำธุรกรรมผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการทำธุรกรรมผ่านตัวแทน ส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการมีความหลากหลายมากขึ้น มีการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งให้สถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์เข้ามาช่วยเหลือแก่ผู้ให้บริการ microcredit 4. การจัดหาแหล่งทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Finance) ซึ่งเห็นว่าควรมีมาตรการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในด้านการให้กู้ยืมและการเข้าร่วมทุน เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาล แต่สมาชิกเอเปคส่วนใหญ่ยังขาดความชำนาญและผู้เชี่ยวชาญ ในการจัดทำโครงการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships: PPPs) รวมทั้งขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นแกนกลางในการประสานเพื่อให้เกิดโครงการ PPP ดังนั้นจึงควรมีการเร่งพัฒนาทักษะของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อกำกับดูแลโครงการ PPP นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่สมาชิกเอเปคให้ความสนใจแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อสนับสนุน ได้แก่ การปฎิรูปเชิงโครงสร้าง (Structural Reform) การเจริญเติบโตสีเขียว (Green Growth) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นายนริศกล่าวต่อไปว่า ในกรอบเอเปคนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ 2 หัวข้อหลักได้แก่ การพัฒนาแหล่งเงินทุนฐานราก และการพัฒนาโครงการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งในด้านการพัฒนาแหล่งเงินทุนฐานรากนั้น ไทยได้ดำเนินการไประดับหนึ่งแล้ว โดยมีการวางกรอบนโยบายไว้ในแผนแม่บทการเงินฐานราก แผนพัฒนาสถาบันการเงินของรัฐ และแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ซึ่งครอบคลุมแนวทางการพัฒนาแหล่งเงินทุนฐานรากไว้ครบถ้วน ทั้งนี้ในส่วนของ PPP นั้นไทยได้มีบทบาทนำในการเป็นเจ้าภาพร่วมกับออสเตรเลีย และอินโดนีเซียจัดการประชุมทางวิชาการขึ้น 2 ครั้ง ในปี 2553 เพื่อหาแนวนโยบายหลักที่สมาชิกสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับประเทศของตน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการสรุปผลเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคต่อไป สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร.0-2273-9020

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ