กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ก.ไอซีที
นายวิริยะ มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ภายหลังจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงไอซีที ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้จัดการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาภัยจากสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2553 ขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 2553 ระหว่างเวลา 09.00-11.00 น. ในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งการซักซ้อมแผนอพยพหลบภัยในปีนี้นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
สำหรับการฝึกซ้อมในครั้งนี้เป็นการซ้อมเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิแบบเต็มรูปแบบ โดยสมมติเหตุการณ์ให้เกิดแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ขนาด 8.5 ริกเตอร์ ระยะห่างจากชายฝั่งทะเลอันดามัน 449 กิโลเมตร และคาดว่ามีโอกาสเกิดคลื่นสึนามิ ซึ่งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ฝึกซ้อมระบบการแจ้งเตือนภัยตามแผนที่ได้กำหนดไว้ คือ กดสัญญาณระดมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเพื่อพร้อมปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ รวมถึงเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งได้ส่ง SMS และ FAX แจ้งเตือนภัยถึงผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งข่าวตัววิ่ง ส่งโทรสารประกาศแจ้งเตือนภัยผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
หลังจากนั้นศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจึงได้เปิดเสียงไซเรนผ่านหอเตือนภัยทั้ง 127 หอ ในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อแจ้งประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมการซ้อมอพยพตามแผนปฏิบัติการไปสู่พื้นที่ปลอดภัย จากนั้นรอฟังการประกาศยกเลิกสถานการณ์จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติผ่านหอเตือนภัยในพื้นที่และผ่านสื่อต่างๆ พร้อมทั้งประกาศยุติการฝึกซ้อม
“อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากิจกรรมฝึกซ้อมแผนอพยพหลบภัยจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ประชาชนทุกภาคส่วนก็ได้ให้ความร่วมมือในการร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง โดยทันทีที่มีเสียงไซเรนดังขึ้นพร้อมกันทั้ง 127 หอ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจุดต่างๆ ได้ปฏิบัติงานตามแผน เพื่อเร่งอพยพประชาชนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ไปยังพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งนอกจากซ้อมหลบภัยแล้วยังมีการซ้อมกู้ภัยในกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บด้วย
จึงนับว่าการฝึกซ้อมฯ ในปีนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นมาตรการป้องกันภัยมากกว่าการบรรเทาภัยเพื่อลดความสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมุ่งเป้าหมายหลักไปที่ชุมชนและพื้นที่เสี่ยงภัยโดยการให้ความรู้แก่ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งจัดระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า การจัดทำแผนเตรียมพร้อมรองรับในการอพยพ และการฝึกซ้อมการปฏิบัติตามแผน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเมื่อเกิดภัย ตลอดจนช่วยสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในประสิทธิภาพของสัญญาณเตือนภัยที่พร้อมใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดในอนาคตได้” นายวิริยะ กล่าว
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT