กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ม.อ.ศึกษาชีวิตปลาหมึกน่านน้ำไทย ค้นพบปลาหมึกสายพันธุ์ใหม่ 3 ชนิด ระบุอนาคตแนวโน้มของปลาหมึกมีปริมาณลดลง หลังระบบนิเวศวิทยาเสียหายจากการรุกล้ำพื้นที่ของมนุษย์
ดร.จารุวัฒน์ นภีตะภัฏ อาจารย์ประจำสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับทีมงานจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการสำรวจศึกษาปลาหมึกในแถบคาบสมุทรไทย ซึ่งจากการลงพื้นที่ทีมงานได้ค้นพบปลาหมึกสายพันธุ์ใหม่ 3 ชนิด ได้แก่ ปลาหมึกลายเสือ (mimic octopus) ที่พบบริเวณเกาะสาก จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นปลาหมึกพันธุ์หายาก และมีความเสี่ยงว่าปลาหมึกสายพันธุ์นี้อาจจะสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยในอนาคต
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่สำรวจน่านน้ำฝั่งอันดามัน บริเวณจังหวัดภูเก็ต โดยได้ค้นพบปลาหมึกสายพันธุ์หอยงวงช้างกระดาษใหญ่ (greater Argonaut) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มปลาหมึกสาย มีหนวดคู่แรกที่แผ่ออกเป็นแผ่น ซึ่งปลาหมึกสายพันธุ์นี้ จะมีต่อมที่จะหลั่งสารเคมีออกมาสร้างเป็นเปลือกที่เป็นสารพวกแคลเซียมบางๆ เรียกว่า secondary shell โดยแผ่นเนื้อดังกล่าวจะทำหน้าที่ห่อหุ้มและพยุงเปลือกไว้ และยังค้นพบปลาหมึกสายพันธุ์ผ้าห่ม (blanket octopus) ที่มีลักษณะเด่น ที่มีรูเปิดที่ส่วนบนและส่วนล่างของหัวด้านละ 1 คู่ และมีแผ่นเนื้อบางๆ ที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างหนวดคู่แรก คู่ที่อยู่กลางด้านบนของหัว และระหว่างหนวดคู่แรกกับคู่ที่สอง จะแผ่ออกเป็นแผ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่อยู่สองข้างของหนวดคู่แรกทั้งสองเส้นจะยาวถึง 2-3 เท่าของลำตัว
“การค้นพบปลาหมึกสายพันธุ์ใหม่ ถือเป็นความสำเร็จของทีมสำรวจ โดยในขณะนี้ประเทศไทยมีการสำรวจพบสายพันธุ์ปลาหมึกประมาณ 80 ชนิด ที่อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม ในทางวิชาการถือว่า ปลาหมึกเป็นสัตว์กลุ่มหอยโดยทางสรีระวิทยา แต่ในส่วนพฤติกรรมจะคล้ายสัตว์จำพวกปลา ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการที่ดีที่สุดของสัตว์ในกลุ่มที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เพราะมีการพัฒนาสติปัญญาเทียบเท่ากับสุนัข” ดร.จารุวัฒน์ กล่าว
อาจารย์ประจำสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ทางคณะยังอยู่ระหว่างทำโครงการศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของกลุ่มปลาหมึกกระดองในบริเวณคาบสมุทรไทย โดยศึกษาจากดีเอ็นเอ ซึ่งผลการศึกษาในเบื้องต้นยังไม่สามารถจำแนกความแตกต่างของสายพันธุ์ปลาหมึกของทะเลฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยได้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยการนำข้อมูลจากการศึกษาดีเอ็นเอ และสัญฐานวิทยามาผนวกกันเพื่อหาข้อสรุปต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการลงสำรวจวิจัยในครั้งนี้ ยังพบว่า ระบบนิเวศของปลาหมึกในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเกิดจากน้ำเสื่อมสภาพ และปัญหาการรุกพื้นที่การประมง ที่มีการจับสัตว์น้ำเพื่อนำไปบริโภคมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ทรัพยากรปลาหมึกลดน้อยลง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างจิตสำนึกให้กับทุกคนได้ร่วมกันอนุรักษ์เพื่อป้องการการสูญพันธุ์ของปลาหมึกในน่านน้ำไทย
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118
e-mail address : c_mastermind@hotmail.com เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com