กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ก.ล.ต.
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ประจำไตรมาสสามของปี 2553 ซึ่งได้หารือกันถึงมาตรการและแนวทางปฏิบัติของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อส่งเสริมการให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าและการบริหารความเสี่ยงอันอาจมีผลต่อทั้งบริษัทและระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์โดยรวม สรุปเรื่องที่สำคัญได้ดังนี้
1. แนวทางปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงของ บล. จากการลงทุนของพอร์ตบริษัท
ก.ล.ต. สนับสนุนการกำหนดแนวทางการบริหารและจัดการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อบริษัทหลักทรัพย์ (proprietary trading) ของสมาคม บล. และมีความเห็นว่า แนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยยกมาตรฐานการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงของ บล. ในด้านนี้ให้ดีขึ้น และสามารถดูแลความเสี่ยงให้อยู่ในวงจำกัดได้
แนวทางดังกล่าวประกอบด้วยการให้ บล. จัดทำนโยบายและหลักเกณฑ์การลงทุน วงเงินลงทุนและการจัดสรรวงเงินตามประเภทของการลงทุน นโยบายเกี่ยวกับการตัดขาดทุนและการสนับสนุนสภาพคล่องในยามจำเป็น และจัดทำข้อมูลเชิงวิเคราะห์เพื่อหาอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิในกรณีลงทุนเต็มวงเงิน ซึ่งนโยบายดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งต้องมีหลักเกณฑ์ในการรายงานการลงทุนต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อให้สามารถติดตามการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ บล. สามารถลงทุนในลักษณะซื้อและขายหลักทรัพย์ในวันเดียวกัน (day trade) ได้ในวงเงินรวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 75 ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยบุคลากรของ บล. ที่ทำหน้าที่จัดการลงทุนต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน หรือสอบผ่านหลักสูตร CISA หรือ CFA ระดับที่ 1 ขึ้นไป โดย ก.ล.ต. จะใช้แนวทางดังกล่าวเป็นมาตรฐานในการกำกับดูแลเรื่องการลงทุนของพอร์ตบริษัทตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554
2. มาตรการป้องปรามการสร้างราคาหลักทรัพย์จากการส่งคำสั่งซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต
สมาคมได้แจ้งความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ได้ทำการหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จะมีมาตรการดูแลไม่ให้มีการซื้อขายที่มีลักษณะไม่เหมาะสมไม่ให้เข้าสู่ระบบ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทบทวนและปรับปรุงมาตรการที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น และ บล. แต่ละแห่งจะให้ความร่วมมือ
คอยติดตามคำสั่งซื้อขายหุ้น turnover list หุ้นร้อนแรงที่เป็นข่าว หรือหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งให้จับตาเป็นพิเศษ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. มาตรการป้องปรามบุคลากรของ บล. ในการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการสร้างราคาหลักทรัพย์
ก.ล.ต. พบว่า ในหลายกรณีมีเจ้าหน้าที่การตลาด และ/หรือผู้บริหารของ บล. มีพฤติกรรมที่อาจเป็นการช่วยเหลือลูกค้าในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือเข้าข่ายการสร้างราคาหลักทรัพย์ เช่น เจ้าหน้าที่การตลาดรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จากบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของบัญชีและไม่ได้รับมอบอำนาจ และดำเนินการตามคำสั่งซื้อขายของลูกค้าโดยไม่เก็บหลักฐาน เป็นต้น ก.ล.ต. จึงได้แจ้งให้สมาคมไปกำหนดแนวทางการปฏิบัติของ บล. ในการป้องกันพฤติกรรมดังกล่าว เช่น บล. จะต้องตรวจสอบการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอและบันทึกผลการตรวจสอบเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบกรณีที่พบว่ามีการซื้อขายกระจุกตัวอยู่ในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งและเป็นการซื้อขายจากลูกค้าของเจ้าหน้าที่การตลาดทีมใดทีมหนึ่ง รวมทั้งต้องแจ้ง ก.ล.ต. เมื่อพบข้อสังเกตที่อาจแสดงว่ามีการสร้างราคา หรือให้ความช่วยเหลือในการสร้างราคาหลักทรัพย์ เป็นต้น
4. การเตรียมความพร้อม บล. สู่การเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน
ก.ล.ต. ได้เน้นย้ำให้สมาคมทำการศึกษากฎระเบียบของทางการและเอกชนของประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งหากสมาคมพบอุปสรรค ให้รีบเสนอ ก.ล.ต. เพื่อนำไปหารือในการประชุม ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) และเพื่อให้ บล. ทุกแห่งมีความเข้าใจในเรื่องนี้ ก.ล.ต. จะจัดพบปะพูดคุยเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและรับฟังความเห็นจาก บล. โดยจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ บล. ที่เป็นบริษัทในเครือธนาคารพาณิชย์ บล. ที่เป็นบริษัทในเครือของบริษัทต่างประเทศ และ บล. ไทยที่ถือหุ้นโดยนิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไป
นายธีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการและแนวทางปฏิบัติที่ได้มีการหารือและตกลงร่วมกันในครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับการปฏิบัติงานหลาย ๆ ด้านของ บล. รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดทุนและผู้ลงทุน เนื่องจาก บล. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วยการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐานโดยคำนึงถึงผู้ลงทุนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตลาดเป็นสำคัญ”
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า “ในการประชุม สมาคมได้รายงานถึงความพร้อมที่จะยกระดับเป็นองค์กรกำกับดูแลตนเอง (Self-Regulatory Organization: SRO) ซึ่งผลการหารือกับสมาชิกก่อนหน้านี้เห็นพ้องกันว่า ระบบ SRO สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการดำเนินการของสมาชิกที่มีความชำนาญในธุรกิจและใกล้ชิดกับตลาด จึงสามารถตอบสนองต่อสภาพตลาดได้เร็วกว่าและมีความยืดหยุ่นคล่องตัวมากกว่าเมื่อเทียบกับการกำกับดูแลโดยหน่วยงานทางการ ดังนั้น สมาคมจึงจะเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อไป”