กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--ศปถ.
ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ถนน แถลงสรุปสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ 7 วันระวังอันตราย ประจวบคีรีขันธ์และกรุงเทพฯ ครองแชมป์ตายสูงสุด ขณะที่ ชัยนาท ยโสธร แม่ฮ่องสอน ลำพูน สมุทรสงครามและอ่างทอง ประสบความสำเร็จ ไม่มีคนตาย
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัย ทางถนน แถลงข่าวสถิติผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2550 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่าวันที่ 3 ม.ค. 50 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 378 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 42 คน บาดเจ็บ 397 คน สาเหตุและพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ส่วนใหญ่เกิดจาก เมาสุรา ร้อยละ 28.57 รองลงมา คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 21.43 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 14.29 ตามลำดับ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.35 รองลงมา รถปิคอัพ ร้อยละ 5.51 และรถนั่งส่วนบุคคล ร้อยละ 2.10 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในช่วงทางตรงของถนน สายรอง (ถนนระหว่างหมู่บ้าน) และช่วงกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ นราธิวาส และ กรุงเทพฯ (จังหวัดละ 3 คน) รองลงมา นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น ลพบุรีราชบุรี มหาสารคาม พะเยา และอำนาจเจริญ (จังหวัดละ 2 คน) ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจังหวัดละ 1 คน มี 17 จังหวัด และจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น ( 15 ครั้ง) รองลงมา ได้แก่ สุรินทร์ นครปฐม และ กรุงเทพฯ (จังหวัดละ 12 ครั้ง) นครราชสีมา จันทบุรี และกำแพงเพชร (11 ครั้ง) ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ (3 ม.ค. 50) จำนวน 5 จังหวัด
สำหรับ 7 วันระวังอันตรายผ่านไป มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม 4,456 ครั้ง เปรียบเทียบกับปี 2549 (4,194 ครั้ง) มากกว่า 262 ครั้ง หรือร้อยละ 6.25 มีผู้เสียชีวิตรวม 449 คน เปรียบเทียบกับปี 2549 (441 คน) มากกว่า 8 คน หรือร้อยละ 1.81 ผู้บาดเจ็บ รวม 4,943 คน เปรียบเทียบกับปี 2549 (4,772 คน) มากกว่า 171 คน หรือร้อยละ 3.58 จังหวัดที่มีอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น (141 ครั้ง) รองลงมา เชียงราย (139 ครั้ง) เชียงใหม่ (129 ครั้ง) ตามลำดับ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ (จังหวัดละ 18 คน) รองลงมา เชียงราย บุรีรัมย์ (จังหวัดละ 17 คน) ชัยภูมิ ( 16 คน) ตามลำดับ จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสม สูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น ( 157 คน) รองลงมา เชียงราย ( 150 คน) นครราชสีมา (148 คน) ตามลำดับ และจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตช่วงรณรงค์ 7 วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท แม่ฮ่องสอน ยโสธร ลำพูน สมุทรสงคราม และ อ่างทอง
ในช่วง 7 วันระวังอันตรายมีการเรียกตรวจตามมาตรการ 3ม. 2ข. 1ร. รวม 12,562,745 คัน พบการกระทำผิดและดำเนินคดี จำนวน 252,516 ราย เนื่องจาก ไม่สวมหมวกนิรภัย สูงที่สุด ร้อยละ 6.68 รองลงมา ได้แก่ ขับขี่มอเตอร์ไซด์ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 2.54 และไม่พกพาใบขับขี่ ร้อยละ 2.04 ตามลำดับ จากสถิติ 7 วัน ที่ผ่านมา พบกลุ่มวัยรุ่นช่วงอายุ 15 — 19 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดร้อยละ 19.96 รองลงมา ช่วงอายุ 20-24 ปี ร้อยละ 16.60 และช่วงอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 16.54 ตามลำดับ
นายโฆสิต .... ได้กล่าวถึงสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นตลอด 7 วันที่ผ่านมาว่า แม้ว่าการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันระวังอันตรายที่ผ่านมา จะไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ก็สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้ในระดับหนึ่ง หากเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่มีการดำเนินงานใดๆเลย อาจส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่านี้ ทั้งนี้ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ได้ร่วมปฏิบัติงานกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่มีความตื่นตัวในการลดอุบัติเหตุทางถนนโดยการปฏิบัติตามกฎจราจร และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ตามจุดตรวจต่างๆเป็นอย่างดี