กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
ความแตกต่างทางศาสนา มิใช่ปราการขวางกั้นการอยู่ร่วมกันของนักศึกษาไทยพุทธและนักศึกษาไทยมุสลิม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทว่า การเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของอีกฝ่าย กลับยิ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์ และก่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีปฏิบัติของคนทั้ง 2 ศาสนา มากยิ่งขึ้น
ช่วงเดือนกันยายน 2553 มีกิจกรรมสำคัญ ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยในภาคใต้ เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 กิจกรรม คือ วันฮารีรายออีดีลฟิตรี ของชาวไทยมุสลิม และ วันสารทไทย หรือสารทเดือนสิบ ของชาวไทยพุทธ ซึ่งในฐานะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีนักศึกษาไทยพุทธและไทยมุสลิม เข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนมาก กองพัฒนานักศึกษา และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงจัดกิจกรรม วันสารทไทยและวันฮารีรายอ ในวันที่ 21 และ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชนต่างศาสนา
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว เปิดโอกาสให้นักศึกษาแต่ละคณะ ส่งตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันจัดหฺมฺรับ (การจัดสำรับอาหารเพื่อทำบุญในเทศกาลเดือนสิบ) แข่งขันทำแกงกะทิ แข่งขันทำขนมต้ม และการแข่งขันทำขนมรายอ เช่น ขนมจู้จุน ขนมรังผึ้ง บรรยากาศเต็มไปด้วยความอุบอุ่นและสนุกสนาน
น.ส.รัตติกาล นาประจุล น.ส.พจมาน อ่อนแก้ว น.ส.มัตติกา สุวรรณมณี และ น.ส.พรพิไล หยาดทอง นักศึกษาโปรแกรมวิชาบริหารธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งเข้าแข่งขันจัดหฺมฺรับ กล่าวว่า ประเพณีทำบุญเดือนสิบ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยลูกหลานจะจัดทำหฺมฺรับ ภายในบรรจุขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมเจาะหู เป็นต้น ชุดหนึ่งนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัด อีกชุดจัดเตรียมไว้ให้ผู้เสียชีวิตที่ไม่มีญาติ เรียกว่า “ตั้งเปรต” หลังจากบำเพ็ญกุศลเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมพิธีจะเข้าแย่งอาหารที่เหลือจากการบำเพ็ญกุศล พิธีนี้เรียกว่า “ชิงเปรต” ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จัดกิจกรรมวันสารทไทยและวันฮารีรายอ ทำให้นักศึกษาที่นับถือศาสนาต่างกัน มีความเข้าใจในประเพณีและวัฒนธรรมของอีกฝ่ายมากขึ้น
ในขณะที่ น.ส.รุสดา มะลาเฮง และ น.ส.สริญญา ขุนรายา นักศึกษาโปรแกรมวิชาเกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งร่วมแข่งขันทำขนมจู้จุน กล่าวว่า ขนมจู้จุนในภาษาอิสลามเรียกว่า จูโจ ชาวไทยมุสลิมนิยมรับประทานขนมจู้จุนคู่กับน้ำชา ซึ่งก่อนที่จะเข้าทำการแข่งขัน พวกตนได้สอบถามกรรมวิธีการทำจากคนเฒ่าคนแก่ และหาข้อมูลเพิ่มเติมทางอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม พวกตนรู้สึกดีใจที่มีการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เนื่องจากเป็นการสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม ของคนที่นับถือศาสนาแตกต่างกัน
ด้าน อ.จิรภา คงเขียว ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ในฐานะผู้จัดทำโครงการ กล่าวว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นเน้นความเป็นหนึ่งเดียวกัน เนื่องจากเราต้องการปลูกฝังการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทยให้เกิดขึ้นในหมู่เยาวชน ไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของทั้ง 2 ฝ่าย ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีระหว่างกัน
และนี่ก็คือข้อพิสูจน์ว่า การอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน แม้จะมีความแตกต่างทางศาสนา แต่ก็สามารถมอบความรัก ความเข้าใจ ให้แก่กัน และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้