เลี้ยงสัตว์ด้วยหัวใจสร้างความปลอดภัยห่างไกลพิษสุนัขบ้า

ข่าวทั่วไป Monday September 27, 2010 08:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. กทม. เปิดสวนรถไฟจัดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกปี 53 ให้เจ้าของสุนัขกับแมวนำสัตว์เลี้ยงร่วมกิจกรรม โชว์ความสามารถ พร้อมปลูกจิตสำนึกเลี้ยงสัตว์ด้วยความรักและความรับผิดชอบ ร่วมแรงร่วมใจป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจริงจัง ยั่งยืน และให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าฟรี พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานวันป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้าโลก ประจำปี 2553 (World Rabies Day 2010) ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร ซึ่งปีนี้กรุงเทพมหานคร รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดงานโดยได้รับความร่วมมือจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และสมาคมสัตวแพทย์ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย จัดงานภายใต้แนวคิด “สัตว์เลี้ยงปลอดภัยพาไปฉีดวัคซีน” ด้วยการจัดกิจกรรม ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ฟรี Dog Park จำลอง ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ และคำแนะนำในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน นิทรรศการการป้องกันไม่ให้สุนัขกัด โครงการต้นแบบ แก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืน โครงการบ้านรักหมา ศาลายา โครงการเลี้ยงไม่ไหวให้ กทม. เลี้ยง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง โดยรายได้เพื่อสาธารณกุศล การเสวนาประสบการณ์จากการถูกสุนัขกัด โดยศิลปิน มด RS การแสดงความสามารถของสุนัขแสนรู้ และสุนัขจรจัดที่กรุงเทพมหานครนำไปเลี้ยงดู การแสดงจากศิลปิน RS ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์กรเพื่อการรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าโลก ได้กำหนดให้วันที่ 28 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) เลี้ยงไม่ไหวให้ กทม. เลี้ยง พญ.มาลินี กล่าวว่า โครงการเลี้ยงไม่ไหวให้ กทม. เลี้ยง เป็นแนวคิดในการลดจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ต้องการให้เจ้าของนำสุนัขไปปล่อยทิ้งตามสถานที่ต่างๆ เช่น วัด ศาสนสถาน จนมีการแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ประชาชน สำหรับเจ้าของสุนัขที่ไม่ประสงค์หรือไม่สามารถเลี้ยงสุนัขได้ให้นำสุนัขมามอบให้ กทม. หรือแจ้งให้ กทม. ไปรับสุนัขได้ โดยสุนัขดังกล่าวถือเป็นสิทธิ์ขาดของ กทม. และเจ้าของสุนัขต้องทำสัญญาไม่นำสุนัขมาเลี้ยงอีก ซึ่ง กทม. จะนำไปเลี้ยงที่ ศูนย์พักพิงสุนัขของ กทม. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำหมัน ฝึกนิสัย และหาคนอุปการะต่อไป โดยดำเนินการจริงจังต่อเนื่อง คาดว่าภายใน 10 ปี (ปี 2563) จะสามารถขจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลสุนัขตกตัวละประมาณ 8 บาท/วัน โดย กทม. มีสุนัขจรจัดในความดูแลที่ศูนย์พักพิงบ้านกึ่งวิถี อ.ทับทัน จ.อุทัยธานี ประมาณ 5,000 ตัว สามารถรับเพิ่มได้อีกประมาณ 3,000 ตัว ผู้สนใจมอบสุนัขให้ กทม. หรือขอรับสุนัขไปเลี้ยง สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์พักพิงสุนัขประเวศ โทร. 0 2328 7460 นอกจากนี้ กทม. มีบริการทำหมันสุนัขฟรี หากชุมชนมีสุนัขและแมวที่ต้องการทำหมันตั้งแต่ 40 ตัว ขึ้นไป สามารถติดต่อขอหน่วยบริการทำหมันเคลื่อนที่ได้ที่ 0 2248 7418 และ 0 2245 3311 ปี 53 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย สุนัขและแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้า 92 ตัว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. — 20 ก.ย. 53 พบสุนัขและแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้า 92 ตัว แบ่งเป็นสุนัข 89 ตัว และแมว 3 ตัว จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปี 52 จำนวน 7 ราย ในปี 53 จำนวน 6 ราย ซึ่งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสุนัขและแมวข้ามพื้นที่กันมาก จึงต้องขอความร่วมมือให้ประชาชนเลี้ยงสุนัขด้วยความรัก และรับผิดชอบ มีจิตสำนึก ตระหนัก และเห็นความสำคัญ ของการร่วมมือกันป้องกัน ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อลดการแพร่ระบาด และการเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าฟรีกว่า 66,300 ตัว ทำหมันเกือบ 2,000 ตัว ในปีนี้ กทม. ได้รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 2 — 12 มี.ค. 53 และครั้งที่ 2 วันที่ 6 — 10 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือระหว่าง กทม. สำนักงานสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ สัตวแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถานพยาบาลสัตว์เอกชน สามารถให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยงได้มากถึง 66,346 ตัว และจัดสัปดาห์รณรงค์ผ่าตัดทำหมันสุนัข 2 ครั้ง รวม 1,944 ตัว ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 30 ม.ค. — 5 ก.พ. 53 ผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว 1,010 ตัว ครั้งที่ 2 วันที่ 1 — 7 เม.ย. 53 ผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว 934 ตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ