ศูนย์เตือนภัยพิบัติฯแจงระบบเตือนภัยสึนามิได้มาตรฐานสากล

ข่าวทั่วไป Monday September 27, 2010 09:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร แถลงผลการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาภัยจากสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2553 โดยนายวิริยะ มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า การฝึกซ้อมประจำปี 2553 นี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่สำหรับเหตุการณ์สัญญาณเตือนภัยที่ดังขึ้นภายหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกซ้อม จนทำให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจผิดคิดว่าเกิดสึนามิขึ้นจริงนั้น ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการ^ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการฝึกซ้อมครั้งที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะความล่าช้าในการส่งสัญญาณที่เชื่อมต่อกับดาวเทียม ซึ่งโดยปกติการส่งสัญญาณไปยังดาวเทียมและส่งกลับลงมานั้นจะมีความล่าช้าเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่จะมีช่วงห่างเพียงแค่ไม่เกิน 1 นาที แต่สัญญาณที่ดัง ล่าช้าไปเกือบ 2 ชั่วโมงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นั้น เป็นเพราะในการฝึกซ้อมมีการกดสัญญาณเตือนภัยพร้อมกันทั้ง 127 จุด เมื่อสัญญาณทำงานพร้อมกันคราวละมาก ๆ จึงทำให้ความล่าช้าที่เกิดขึ้นยืดเยื้อออกไปด้วย ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ทางศูนย์เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง” อย่างไรก็ตาม สำหรับระบบเตือนภัยที่เซตมีอยู่นั้น ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติ ยืนยันว่า เป็นระบบที่มีมาตรฐานเดียวกันกับต่างประเทศที่เคยประสบเหตุสึนามิ ซึ่งตัวระบบสัญญาณนั้นไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด และหากเกิดสึนามิขึ้นจะมีการกดเพียงครั้งเดียว จึงจะไม่ทำให้เกิดสัญญาณล่าช้าอย่างที่เกิดขึ้นในขณะฝึกซ้อมอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าสัญญาณเตือนภัยที่มีอยู่นั้นมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยทางศูนย์ได้มีการปรับปรุงพัฒนาระบบให้ทันสมัยอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของภาษาที่ใช้ในการประกาศเตือน จากเดิมที่มีอยู่ด้วยกันถึง 5 ภาษานั้น จะมีการปรับปรุงให้เหลือเพียง 2 ภาษาคือ ภาษาไทยและอังกฤษ หลังจากมีการสำรวจพบว่าการเตือนต่อเนื่องหลายภาษานั้นบางครั้งอาจทำให้สับสนมากกว่า ปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้มีการวางระบบการตรวจสอบและประมวลผลการเกิดแผ่นดินไหวครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งอันดามันเกือบครบถ้วนหมดแล้ว โดยมีตัวอย่างการประมวลผลมากกว่า 1,000 ตัวอย่างที่จะช่วยให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนั้นจะก่อให้เกิดสึนามิหรือไม่ รวมทั้งมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานทางด้านแผ่นดินไหวและสึนามิในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสามารถนำผลการเกิดแผ่นดินไหวมาประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถประกาศเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการวางแนวทางในการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในเรื่องของการให้ความรู้เกี่ยวกับหลบภัยสึนามิว่ามีขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างไรบ้าง รวมทั้งในส่วนของหอเตือนภัยและป้ายบอกทางต่าง ๆ ซึ่งอาจมีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ซึ่งการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาจะช่วยทำให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยในส่วนนี้เป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต สำหรับการฝึกซ้อมในปีนี้ ได้ทำการซ้อมเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ใน 6 จังหวัด ฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล โดยทำการฝึกซ้อมพร้อมๆกัน ด้วยการสมเกิดเหตุแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ขนาด 8.5 ริกเตอร์ ระยะห่างจากชายฝั่งทะเลอันดามัน 449 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเกิดคลื่นสึนามิ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ