กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. จะจัดสัมมนาวิชาการภายใต้โครงการขยายบทบาท สศค. สู่ภูมิภาค เรื่อง “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดพิษณุโลก : สี่แยกอินโดจีน” และ “ท้องถิ่น : องค์กรหลักในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม?” ในวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2550 ณ ห้องวังธารา โรงแรมอมรินทร์ จังหวัดพิษณุโลก โดยคาดว่าการสัมมนาครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก ยังก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการต่อยอดความคิดของการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระทรวงการคลังซึ่งจะต้องนำเสนอร่างกฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อมในอนาคต
การสัมมนาดังกล่าวจะจัดในรูปแบบของการอภิปรายทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยในช่วงเช้าภายหลังจากการกล่าวเปิดสัมมนาพร้อมกับการบรรยายพิเศษเรื่อง “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2550” โดยผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังแล้ว จะเป็นการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดพิษณุโลก” โดยมีนายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก นายรุ่งชัย แพศย์สกุล คลังจังหวัดพิษณุโลก นำเสนอทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดพิษณุโลก นายวิเศษ วชิราศรีศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก นำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในมุมมองของภาคเอกชน ผศ.ดร.มนตรี กรรพุมมาลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในมุมมองของนักวิชาการ
สำหรับช่วงบ่ายจะเป็นการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ท้องถิ่น : องค์กรหลักในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม?” โดยมี ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลย์สงคราม
ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ นายไพฑูรย์ คล้ายอ่อง ปลัดเทศบาลนครพิษณุโลก รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญโครงการภาษีสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ร่วมอภิปราย
การจัดสัมมนาวิชาการภายใต้โครงการขยายบทบาท สศค. สู่ภูมิภาค ครั้งนี้นับเป็นการจัด ครั้งที่ 2 ของปีงบประมาณ 2550 หลังจากที่ได้จัดมาแล้วที่จังหวัดระยอง โดยจังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดเกษตรกรรม ที่มีมลพิษต่ำ และภาคเอกชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัด จึงเป็นตัวอย่างอีกรูปแบบหนึ่งของท้องถิ่นที่แตกต่างจากจังหวัดระยองซึ่งเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมที่มีมลพิษสูง ผลจากการสัมมนาในครั้งนี้จะทำให้ สศค. ได้รับมุมมองที่หลากหลายถึงความพร้อมของท้องถิ่นในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเสนอร่างกฎหมายภาษีสิ่งแวดล้อมต่อไป