กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--สคร.
สคร. จัดสัมมนาผู้แทนกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจและกิจการที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 ย้ำบทบาทในการดูแลและสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการจัดสัมมนาผู้แทนกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจ และกิจการที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 ณ ห้องประชุม 401 กระทรวงการคลัง กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของผู้แทนกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจ และกิจการที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 ให้สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถคิดกลไก และเครื่องมือการบริหารจัดการ เพื่อการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้เกิดมาตรฐาน การจัดการที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องการเงิน การบัญชี การลงทุน การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
ด้านนางสาวสุภา ปิยะจิตติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นบุคคลที่ได้รับการคาดหวังเป็นอย่างมาก ในฐานะผู้แทนหรือผู้กำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจดำเนินงานตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีบทบาทหน้าที่สำคัญ ดังนี้
บทบาทในด้านการกำกับดูแล
การกำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่อง
- โครงการไทยเข้มแข็ง 2555
- โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชน
- มาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
กำกับดูแล เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนและนำส่งเงินรายได้แผ่นดินให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
บทบาทในด้านการบริหารจัดการ
การติดตามฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามแผนงาน/ โครงการที่กำหนดไว้
การแก้ไขปัญหาทางการเงินของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับแผนเพิ่มประสิทธิภาพหรือแผนพลิกฟื้นของรัฐวิสาหกิจ
การเร่งสรรหา CEO ให้กับรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่มี CEO อีก 7 แห่ง เพื่อให้การบริหารงานรัฐวิสาหกิจมีความต่อเนื่อง
“สคร. ในฐานะตัวแทนของกระทรวงการคลัง รู้สึกพอใจกับผลงานที่ผ่านมา ของรัฐวิสาหกิจ โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 รัฐวิสาหกิจไทย (55 แห่ง) มีทรัพย์สินรวมกันทั้งสิ้นกว่า 8.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 86 ของ GDP มีรายได้รวมประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐมากกว่า 8.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลก็ได้จัดสรรรายได้ส่วนนี้มาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และมีการลงทุน ในภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพย์สินของรัฐส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง การรักษาเสถียรภาพภาคการเงิน ตลาดทุน และ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวม” นางสาวสุภากล่าว
ในการสัมมนาครั้งนี้ยังได้กล่าวถึงโครงการสำคัญที่กระทรวงการคลังกำลังผลักดันอยู่คือโครงการ “แนวร่วมปฏิบัติ” (Collective Action) ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนาโดยสถาบันของธนาคารโลก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเผยแพร่กิจกรรมแนวร่วมปฏิบัติ และนำเสนอการปรับปรุงกฏระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดรับกับการดำเนินงานตามแนวร่วมปฏิบัติ ซึ่งระหว่างนี้กรมบัญชีกลางจะต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) พร้อมกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน พร้อมประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อรวบรวมนำเสนอมาตรการในการดำเนินงานแนวร่วมปฏิบัติต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
อีกโครงการคือ “บัญชีวายุภักษ์อาสา” ซึ่งเป็นการรับบริจาคเงินโบนัสของกรรมการในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ และกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อนำเงินที่ได้ไปเป็นสวัสดิการของข้าราชการกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรอมีผลบังคับใช้
นายประดิษฐ์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภารกิจการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจนั้น มีความ ลำบากและซับซ้อนยิ่งกว่าภาคเอกชน ไม่ใช่เพียงมุ่งดำเนินการให้ได้มาซึ่งผลกำไรและสามารถเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น ยังต้องสร้างการยอมรับจากสังคมในด้านประสิทธิภาพความโปร่งใส และธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน รัฐบาลจึงหวังว่ากรรมการผู้แทนของกระทรวงการคลัง จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาองค์กรรัฐวิสาหกิจ ที่มิได้แสดงออกให้เห็นเพียงแค่การสร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนในสังคมมากยิ่งขึ้น ด้วยการดำเนินงานและการบริการที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อคุณวราภรณ์ อุดมไพศาล
หมายเลขโทรศัพท์ 02-298 5800 ต่อ 6753
อีเมล์ Varaporn@dcconsultants.co.th