กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--ปภ.
ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงฤดูร้อน สภาพอากาศโดยทั่วไปจะแห้งแล้ง ลมพัดแรง มีฝุ่นละอองมาก แดดแรงจัด ซึ่งสภาวะอากาศร้อนอาจสร้างความลำบากและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะนำวิธีการขับรถภายใต้สภาพอากาศร้อนและแดดแรงจัดให้ผู้ขับขี่สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้
- กรณีขับรถยนต์ ควรใช้ที่บังแดด สวมแว่นกันแดด และปิดกระจกรถยนต์ หากขี่รถจักรยานยนต์ ควรสวมหมวกนิรภัยเต็มใบที่มีพลาสติกปิดด้านหน้า และสวมแว่นกันแดดเพื่อกรองแสง ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นเส้นทางอย่างชัดเจน และป้องกันฝุ่นละอองเข้าตา
- ในช่วงที่แสงแดดสะท้อนกับพื้นถนน อาจทำให้เห็นภาพพื้นถนนในระยะไกลมีแอ่งน้ำ หรือน้ำเจิ่ง เป็นภาพลวงตาได้ การใส่แว่นกันแดดหรือแว่นกรองแสง จะ ช่วยกรองความสว่างของแสงและแก้ปัญหา การเห็นภาพลวงตาได้ด้วย
- การขับรถท่ามกลางแสงแดดที่ส่องตา อาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าและง่วงนอนได้ง่ายกว่าปกติ หากรู้สึกง่วง ให้ใช้นิ้วโป้งจิกไปที่โคนนิ้วก้อยข้างเดียวกัน จะช่วยให้ตาสว่างขึ้นได้ ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรหาที่หยุดรถในที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน หรือที่พักข้างทาง เพื่อพักหลับสักงีบ แล้วค่อยขับต่อไปจะช่วยให้ ปลอดภัยมากขึ้น
- หมั่นเช็ดล้างทำความสะอาดกระจกรถ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองปกคลุมทำให้มองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน
- เลือกติดฟิล์มกรองแสงตามมาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากฟิล์มกรองแสงมีคุณสมบัติช่วยลดความร้อน กรองและลดความจ้าของแสงแดด จึงถือเป็นอุปกรณ์เสริมประจำรถที่ขาดมิได้ โดยเจ้าของรถควรเลือกใช้ฟิล์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เป็นชนิดเคลือบโลหะ จะมีคุณสมบัติช่วยลดความร้อนได้ดีกว่าไม่ควรเลือกใช้ฟิล์มชนิดย้อมสี เพราะเนื้อฟิล์มจะเสื่อมคุณภาพกลายเป็นสีม่วง ส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยในการมองเห็น และไม่ติดฟิล์มกรองแสงที่มีสีดำหรือทึบเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการขับรถในช่วงเวลากลางคืน และความปลอดภัยในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
นอกจากสภาวะอากาศจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการขับรถแล้ว สภาพแวดล้อมก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน หากผู้ขับรถต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง
ต่อการเกิดอุบัติเหตุควรปฏิบัติดังนี้
1. พื้นผิวถนนขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ ขณะที่ขับรถตกหลุม พวงมาลัยและตัวรถจะมีอาการสะบัด ล้อจะลอยทำให้ควบคุมยาก ควรจับพวงมาลัยให้มั่นคง พร้อมแตะเบรกอย่างเบาๆ เพื่อชะลอความเร็ว จะทำให้แรงสะบัดของพวงมาลัยและตัวรถลดลง ส่วนผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์อาจได้รับอันตรายจากการสะดุด หลุมพื้นผิวจราจรเสียหลัก ดังนั้น ไม่ควรขับด้วยความเร็วเพราะอาจทำให้เสียการทรงตัวได้ง่าย
2. สภาพอากาศวิปริต เช่น ฝนตก หมอกลงจัด พายุลมแรง หากต้องขับรถในสถานการณ์ ดังกล่าว ผู้ขับรถควรประเมินสถานการณ์ ถ้าสภาพอากาศวิปริต จนทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี ควรหาที่จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน ที่จอดรถริมทาง อย่าฝืนขับรถต่อไป เพราะอาจเกิดอันตรายได้ แต่ถ้าประเมินแล้ว สามารถขับต่อไปได้ ควรเปิดไฟหน้ารถและไฟตัดหมอก เพราะนอกจากจะช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้ขับขี่รายอื่นสามารถสังเกตเห็นรถเราได้ดีขึ้นด้วย
3. การขับรถฝ่าพายุฝุ่น และกลุ่มควันไฟ มักพบบ่อยในการขับรถช่วงฤดูแล้ง หากเผชิญสถานการณ์ดังกล่าวให้ชะลอความเร็ว เปิดไฟหน้ารถ ขับชิดซ้ายในช่องทางของตัวเอง ไม่ขับแซงรถคันอื่น ไม่เปลี่ยนช่องทางรถกะทันหัน หากกลุ่มควันมีสะเก็ดไฟลอยมาด้วย ควรจอดรถรอให้กลุ่มควันจางลงก่อน เพราะนอกจากสะเก็ดไฟจะทำลายสีรถแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอีกด้วย
สุดท้ายนี้ ผู้ขับขี่ควรเพิ่มความระมัดระวังและตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมขับขี่เสมอ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ตามมาตรการ 3ม. 2ข. 1ร.(เมาไม่ขับ สวมหมวกนิรภัย มอเตอร์ไซด์ปลอดภัย คาดเข็มขัดนิรภัย พกใบขับขี่และไม่ขับรถเร็ว) นอกจากนี้ การเรียนรู้เทคนิคและวิธีการขับรถอย่างปลอดภัยในสถานการณ์ตามสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ก็จะช่วยป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้มาก