สสปน. เปิดงาน ‘MICE Declaration’ ร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน ประกาศปฏิบัติการขับเคลื่อน ‘โรดแมปต้นแบบ’ ฉบับแรกของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday September 28, 2010 13:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--สสปน. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ผนึกกำลังทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมไมซ์ ร่วมขับเคลื่อนโรดแมปต้นแบบฉบับแรกของอุตสาหกรรมไมซ์ หรือ White Paper : เจตนารมณ์ร่วมของการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในงาน “MICE Declaration” เพื่อเตรียมนำเสนอรัฐบาลผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเร่งดำเนินการมาตรการเชิงรุกภายใต้กลยุทธ์ “Win-Promote-Develop” มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจไมซ์ของประเทศ นายอรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า “โรดแมปแผนการทำงานเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย” หรือที่เรียกว่า “ไวท์ เปเปอร์” เป็นเจตนารมณ์ร่วมของการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ที่สสปน. ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนจากการจัดงาน “MICE Summit” เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และนำไปสู่ข้อสรุปของกรอบแนวทางการจัดทำโรดแมป 10 ข้อ โดยนำความคิดเห็นร่วมจากภาคเอกชนอีกกว่า 200 หน่วยงาน ในทุกมุมมองที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ มาร่วมพัฒนาหาแนวทางการดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก คือ การทำการตลาดในประเทศ การทำการตลาดในต่างประเทศ การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทย และ การสนับสนุนหรือพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์จากภาครัฐ นายอรรคพล กล่าวต่อไปว่า ข้อสรุปกรอบแนวทางการจัดทำโรดแมปใน 4 ประเด็นหลัก มีรายละเอียดโดยสังเขปคือ การทำการตลาดในประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นที่กลุ่มองค์กร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจัดประชุมสัมมนา และการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การทำการตลาดในต่างประเทศ มุ่งเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสในการขายแก่อุตสาหกรรมไมซ์ รวมทั้งรักษางานเดิมที่มีอยู่ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า และสร้างเครื่องมือการตลาดที่สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ ส่วน งานด้านประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ มุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์ให้กับบุคลากรรัฐ ท้องถิ่น และองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมไมซ์จากภายในประเทศสู่ระดับนานาชาติ ส่วน การสนับสนุนหรือพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์จากภาครัฐ เน้นการพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งระบบ ตลอดจนให้การสนับสนุนการแสดงเจตจำนงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานพร้อมงบประมาณสนับสนุน และผลักดันการสร้างงานด้านอีเว้นท์ (Event) โดยเฉพาะ Flagship Event ทั้งในและต่างประเทศ “โรดแมปแผนการทำงานเพื่อฟื้นฟู และพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยฉบับสมบูรณ์จะเป็นโรดแมปฉบับแรกของอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งเป็นเสมือน “แผนที่เส้นทางการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย” ที่ทุกภาคส่วนจะเดินหน้าปฏิบัติการในทิศทางเดียวกันได้อย่างเป็นรูปธรรมส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยที่จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตอบรับกับภาวการณ์แข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมตามกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economy Community) ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งมีเป้าประสงค์ที่จะให้เกิดตลาดที่มีฐานการผลิตร่วมกัน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเสรีทางด้านสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมือ” นายอรรคพล กล่าวเพิ่มเติม สสปน. วางแผนนำเสนอโรดแมปฉบับสมบูรณ์ต่อรัฐบาลในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นวาระแห่งชาติ และขอการสนับสนุนให้รัฐบาลวางกรอบนโยบายและมาตรการรวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับโรดแมปจากดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน ทั้งนี้เพื่อการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ที่จะสอดประสานกันในระดับนโยบายและการปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบ มุ่งสู่เป้าหมายหลักอย่างเป็นเอกภาพ คือ การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายหลักในอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชีย ในขณะเดียวกัน สสปน. ได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไมซ์เชิงรุกขององค์กรที่สอดคล้องกับโรดแมปเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในเชิงปฏิบัติการโดยเร็ว และยังคงยึดแนวทางความร่วมมือจาก “การทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน” โดยสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อพัฒนาธุรกิจไมซ์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี พ.ศ. 2553-2555 ด้วยรูปแบบการพัฒนา 3 รูปแบบหลัก คือ Win (นำงานเข้าประเทศ), Promote (สนับสนุน) และ Develop (พัฒนา) ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1) การดึงงานและเร่งพัฒนาและขยายตลาดผ่านเครือข่ายภาครัฐและเอกชนในการเป็นช่องทางการตลาด 2) ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์อุตสาหกรรมไมซ์ ส่งเสริมการรับรู้ถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ และบทบาทของ สสปน. 3) ส่งเสริมกิจกรรมเพิ่มมูลค่าและยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศ (Domestic MICE) 4) พัฒนาขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐาน และขีดความสามารถขององค์กรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 5) สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและระหว่างประเทศ 6) ยกระดับศักยภาพและบทบาทของ สสปน. ทั้งในส่วนของระบบการบริหารงานและทรัพยากรบุคคล “ในปีงบประมาณ 2553 ที่ผ่านมา มีโครงการเด่น ซึ่งเป็นแนวทางเชิงรุกของ สสปน. ได้แก่ การวางกลยุทธ์ดึงงานใหญ่ (Mega Event) ร่วมกับภาคเอกชนผลักดันให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก “เวิลด์ เอ็กซ์โป 2020” ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศระยะยาวทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุน สังคม และการศึกษา รวมถึงตอกย้ำศักยภาพของประเทศในฐานะศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไมซ์ระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีโครงการเด่นที่ได้รับความสำเร็จอย่างสูงได้แก่ โครงการ “ไมซ์ไทยเข้มแข็ง: พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ด้วยความคิดสร้างสรรค์”ภายใต้แนวคิด “พลิก สร้าง แปลง เปลี่ยน” เพื่อพัฒนาธุรกิจไมซ์ภายในประเทศให้ก้าวสู่การบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์ ตามแนวนโยบาย“เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ของรัฐบาล โดยสสปน. วางยุทธศาสตร์เป้าหมายโครงการ ด้วยการกระจายความรู้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์สู่ภูมิภาค จัดกิจกรรมเดินสายโรดโชว์ในนครแห่งไมซ์ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา และ พัทยา และจากความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้สสปน. สานต่อโครงการในอีก 3 พื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ประกอบด้วย พิษณุโลก ขอนแก่น และ อุบลราชธานี โดยใช้งบประมาณของสสปน. ในปี 2554” นายอรรคพล กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบประมาณ 2552 ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางกลุ่มไมซ์มายังประเทศไทยประมาณ 620,000 คน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 45,000 ล้านบาท โดยสสปน. ตั้งเป้าหมายที่จะรักษาผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมไมซ์ในปีนี้ให้เทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปีหน้า (พ.ศ. 2554) อุตสาหกรรมไมซ์จะเติบโตร้อยละ 15-20 มีจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์เข้ามาประเทศไทยประมาณ 720,000 คน สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่าประมาณ 57,600 ล้านบาท” ทั้งนี้ในส่วน ตลาดด้านการจัดประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Meetings and Incentives) มุ่งส่งเสริมประเทศไทยในเชิงกลยุทธ์ด้วยการโปรโมทประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางโดย “จัดสรรกลุ่มพื้นที่ธุรกิจตามความต้องการของผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ หรือ Clustered Marketing” โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มพื้นที่ธุรกิจ คือ กลุ่มกรุงเทพฯ ปริมณฑลและพัทยา กลุ่มเชียงใหม่และเชียงราย กลุ่มนครราชสีมาและขอนแก่น กลุ่มหัวหินและชะอำ และ กลุ่มภูเก็ต กระบี่และพังงา พร้อมมุ่งผลักดันและสร้างการรับรู้ถึงความเป็นมืออาชีพของผู้จัดงานไทย ในด้านการจัดงานธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าองค์กรจากทั่วโลก ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่กำลังซื้อสูงและต่อเนื่องให้เข้ามาจัดงานไมซ์ ในประเทศไทย โดยในปีนี้ได้เดินสายโปรโมทอุตสาหกรรมไมซ์ในต่างประเทศในงานเทรดโชว์ 8 ครั้ง และโรดโชว์ 14 ครั้ง ตลาดด้านการจัดประชุมนานาชาติ (Conventions) ส่งสัญญาณการเติบโตต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณที่ผ่านมาช่วงเดือนตุลาคม 2552 ถึงกันยายน 2553 ประเทศไทยชนะประมูลสิทธิ์จัดงานประชุมทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกจำนวน 19 งาน ซึ่งจะสร้างรายได้สู่ประเทศไม่ต่ำกว่า 1,700 ล้านบาท โดยจะมีงานประชุมระดับชาติซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมในประเทศไทยหลังจากนี้อีกจำนวน 63 งาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ สสปน. ยังเดินหน้ากระตุ้น สมาคม-หน่วยงานราชการ-สถาบันการศึกษา ให้เข้าร่วมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนานาชาติ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมชาวต่างประเทศให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอแพคเกจเพิ่มมูลค่ามอบให้ทั้งผู้จัดประชุมและผู้เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ สสปน. ในฐานะหน่วยงานหลักได้เป็นตัวแทนของประเทศไทย ในการเป็นประธานสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติเอเชียหรือ Asian Association of Convention Bureaus (AACVB) โดยเป็นแกนนำหลักในการผสานความร่วมมือผลักดันบทบาทสมาคมให้เข้มแข็ง และเป็นที่ยอมรับในระดับโลก เพื่อให้เอเชียเป็นจุดหมายที่สำคัญของการประชุมนานาชาติ ส่วนตลาดด้านการจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการนานาชาติ (Exhibitions) มุ่งสร้าง “เครือข่ายพันธมิตร” ผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมสร้างสรรค์กิจกรรมกระตุ้นตลาดการจัดแสดงสินค้านานาชาติไทย โดยได้ริเริ่มโครงการ “เอ็กซ์ตร้า ไนท์ เอ็กซ์ตร้า สไมล์” (Extra Night, Extra Smile) ขยายสิทธิพิเศษสู่กลุ่มผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลก พร้อมเดินสายโรดโชว์-เทรดโชว์จัดกิจกรรมกระตุ้นความเชื่อมั่นในกลุ่มประเทศเป้าหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน พลัส ซิก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) และนำเสนอโปรโมชั่นสนับสนุนทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ โดยปีนี้ สสปน.ได้สนับสนุนงานแสดงสินค้าใหม่ (New Show) จำนวน 10 งาน และยกระดับงานแสดงสินค้า (Upgrade show) จำนวน 21 งาน นอกจากนี้ สสปน. ยังได้เน้น ส่งเสริมการจัดการประชุมและสัมมนาในประเทศ หรือ โดเมสติคไมซ์ ด้วยการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจถึงศักยภาพของทุกพื้นที่ในประเทศผ่านกิจกรรม familiarization trip เดินสายนำหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนร่วมสัมผัสประสบการณ์จัดงานไมซ์ในประเทศจำนวน 7 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงานไมซ์ภายในประเทศให้มากขึ้น พร้อมทั้งยัง ส่งเสริมการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร และมาตรฐานในอุตสาหกรรมไมซ์ ผ่านโครงการให้ความรู้เรื่องไมซ์แก่เยาวชนและสถาบันการศึกษา (MICE Education) ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตลอดจนร่วมผลักดันให้เกิดมาตรฐานระบบการจัดการด้านการรักษาความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรรมไมซ์ (มอก 22300-2551) และ แนวคิดการจัดงานไมซ์แบบรักษาสิ่งแวดล้อม (กรีน มีทติ้งส์) นายอรรคพล กล่าวสรุปว่า “ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สสปน. ดำเนินงานภายใต้แนวทางหลักที่ชัดเจนมาโดยตลอด นั่นคือ “การบูรณาการความร่วมมือสูงสุดกับภาคเอกชน” ทั้งในด้านการสร้างสรรค์ระดับนโยบายอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยการพัฒนา “โรดแมปต้นแบบฉบับแรกของอุตสาหกรรมไมซ์ หรือ White Paper : เจตนารมณ์ร่วมของการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทย” ร่วมกัน และการปฏิบัติการในแต่ละโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาคเอกชน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจากการมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแนวทางการทำงานและการวางเป้าหมายร่วมเดียวกัน จะเป็นแนวทางที่ยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต เพื่อบูรณาการศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็นจุดหมายปลายทางที่นิยมสำหรับผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างแท้จริง” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารการตลาด คุณปาริฉัตร เศวตเศรนี ผู้จัดการอาวุโส โทร 0-2694-6092, parichat_s@tceb.or.th คุณอริสรา ธนูแผลง ผู้จัดการ โทร. 0-2694-6095, arisara_t@tceb.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ