กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กบข.
สถาบันคุ้มครองเงินฝากย้ำความคุ้มครองครอบคลุมทั้งแบงก์ไทย-เทศ-บง.-บค. ชี้ผู้ฝากเงินรายย่อยที่มีบัญชีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาทส่วนใหญ่ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 98.5% ของระบบได้ประโยชน์ พร้อมแจงประเภทบัญชีที่คุ้มครองครอบคลุมทั้งเงินฝากกระแสรายวัน -ออมทรัพย์ -เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงินที่เป็นเงินบาท ได้เงินคืนทันทีภายใน 30 วัน
นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองของระบบสถาบันการเงินมีจำนวนประมาณกว่า 6.87 ล้านล้านบาท โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะให้ความคุ้มครองผู้ฝากในสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ระบบ ซึ่งจะทำหน้าที่จ่ายคืนเงินให้ผู้ฝากตามวงเงินที่กำหนดอย่างรวดเร็ว เมื่อสถาบันการเงินถูกปิดกิจการ โดยผู้ฝากไม่ต้องรอการชำระบัญชี
สถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้นประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ (รวมสาขาธนาคารต่างประเทศ) จำนวน 32 แห่ง บริษัทเงินทุน (บง.) จำนวน 3 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) อีก 3 แห่ง
ทั้งนี้ ความคุ้มครองในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งเป็นธนาคารที่รัฐถือหุ้นและดูแลผู้ฝากเงินอยู่แล้ว รวมทั้งกฎหมายอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เช่น ธนาคารอิสลาม เป็นต้น
ปัจจุบันหากจำแนกตามประเภทวงเงินฝากของทั้งระบบพบว่าผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ในระบบของไทยฝากเงินคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนถึงร้อยละ 98.5 ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนให้กับผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ในระบบดังกล่าว จึงกำหนดวงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท ซึ่งจะได้เริ่มทยอยลดวงเงินคุ้มครองจากการคุ้มครองเต็มจำนวนมาเป็น 50 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.54 จนถึง 11ส.ค.55 และจะคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อบัญชี ตั้งแต่ 11 มี.ค.55 เป็นต้นไป โดยผู้ฝากจะได้เงินคืนจากกรณีสถาบันการเงินถูกปิดกิจการภายใน 30 วัน
ตัวอย่างเช่น เมื่อหากสถาบันการเงินล้มในเดือนกันยายน 2555 ผู้ฝากเงิน 985 คนใน 1,000 คน จะได้รับความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน สำหรับผู้ฝากเงินจำนวน 15 คน ใน 1,000 คน ก็ได้รับการคุ้มครองเริ่มต้น 1 ล้านบาทก่อน และรอรับเงินฝากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท จากการเฉลี่ยคืนที่ได้จากการขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
สำหรับประเภทเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงินที่เป็นเงินบาท ยกเว้นเงินฝากใน “บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ” ซึ่งเป็นประเภทบัญชีพิเศษที่เปิดเพื่อทำรายการเฉพาะตาม พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง และเงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ เงินฝากอื่นๆที่ไม่ครอบคลุมในการคุ้มครอง เช่น เงินฝากในสหกรณ์ เนื่องจากไม่ได้เป็นสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก สำหรับเงินลงทุนในกองทุนพันธบัตรต่างๆ กองทุน RMFและLTF หุ้นกู้ธนาคาร หุ้นกู้บริษัทเอกชน นั้นไม่ถือว่าเป็นเงินฝากจึงไม่ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน
ส่วนเงินฝากของชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยและฝากไว้ในประเทศที่เป็นเงินบาทนั้นได้รับคุ้มครอง ทั้งนี้ไม่รวม “บัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากที่บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเปิดขึ้นเพื่อทำรายการเฉพาะ
ทั้งนี้ หากผู้สนใจต้องการสอบถามข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ 02-272-0300 หรือติดตามข้อมูลได้ทาง www.dpa.or.th
สำนักผู้บริหารและสื่อสารองค์กร โทร. 02-272-0300 ต่อ 127 / www.dpa.or.th