ปตท. จับมือเอกชนผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ NGV ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 29, 2010 11:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ปตท. ปตท. ส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพอัดที่ได้จากน้ำเสียโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ในพื้นที่ห่างไกลแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีบริการหลัก ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดเริ่มจำหน่ายได้ภายในปลายปี 2554 นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง “โครงการวิจัยและสาธิตการปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ จังหวัดอุบลราชธานี” ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ บริษัท อุบล ไบโอก๊าซ จำกัด โดย นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร เพื่อผลิตและปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียของโรงงานแป้งมันสำปะหลังให้เป็นก๊าซชีวภาพอัด หรือ Compressed Bio-methane Gas (CBG) ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานยนต์ ตามมาตรฐานและข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ เปิดเผยว่า ปตท. จะรับซื้อก๊าซชีวภาพจากบริษัทฯ เพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพและจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในรถยนต์ NGV ในพื้นที่ห่างไกลแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีบริการหลัก (NGV Mother Station) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยบริษัทฯ จะจัดส่งก๊าซชีวภาพให้ ปตท. เพื่อปรับปรุงคุณภาพและผลิตเป็นก๊าซชีวภาพอัดในปริมาณ 2,362 ตันต่อปี เทียบเท่าการใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 2.3 ล้านลิตรต่อปี หรือ ก๊าซหุงต้ม (LPG) ประมาณ 1.8 ล้านกิโลกรัมต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2554 ความร่วมมือกันในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถ NGV ในพื้นที่ห่างไกลแนวท่อส่งก๊าซฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้มีพลังงานสะอาดอย่างก๊าซชีวภาพอัดเป็นพลังงาน ทดแทนสำหรับรถยนต์ เสริมสร้างความมั่งคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศได้ทางหนึ่งแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม และช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนได้อีกด้วย ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ จะเป็นโครงการต้นแบบของการนำก๊าซชีวภาพที่ได้จากอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร, ปศุสัตว์ และการบำบัดน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ในพื้นที่ห่างไกลแนวท่อส่งก๊าซฯ ต่อไปในอนาคต ด้าน นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการให้นโยบายด้านพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงการสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคคมนาคมขนส่งให้มากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ต้องมีการขนส่งก๊าซฯทางรถยนต์ไปยังสถานีบริการ NGV ที่ตั้งอยู่นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งมีต้นทุนที่สูงมาก ทำให้กระทรวงพลังงานต้องเร่งหาวิธีแก้ไขและดำเนินการวิจัยเพื่อหาพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ เพื่อผลักดันให้การดำเนินงานตามนโยบายด้านพลังงานทดแทนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับโครงการวิจัยและสาธิตการปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ดังกล่าว นับว่าเป็นโครงการที่มีความน่าสนใจ และเป็นโครงการที่กระทรวงพลังงานต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการริเริ่มนำก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในรถยนต์ ทดแทนการใช้น้ำมันแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้มีการผลิตก๊าซชีวภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งผลดีคือ ลดภาระประเทศชาติในการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และยังช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จากกลิ่นเน่าเหม็นของน้ำเสีย ขยะ และแมลงรบกวน ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของโลกร้อนอีกด้วย โดยโครงการดังกล่าว กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนการวิจัย 35 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 83 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด” นายวีระพล กล่าวเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2537-3209 ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โทรสาร 0-2537-3211

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ