กรรมาธิการพลังงาน จัดเสวนา “หนีพ้น…โรงไฟฟ้านิวเคลียร์…?” เปิดเวทีความคิด แลกเปลี่ยนทัศนคติเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

ข่าวทั่วไป Wednesday September 29, 2010 14:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น เมื่อวานนี้ (28 กันยายน 2553) คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดการเสวนาเรื่อง “หนีพ้น…โรงไฟฟ้านิวเคลียร์…?” ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 213-216 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2 โดยนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในอนาคตทรัพยากรธรรมชาติกำลังจะหมดไปจากโลก ซึ่งสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยนั้น มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ 70 % ที่เหลือนำเข้าจากพม่า และคาดว่าอีก 20 ปีก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยจะหมดไป ต่อไปจะต้องพึ่งการนำเข้าเพียงอย่างเดียว “ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้เข้าสู่ยุคเจอเนอร์เรชั่นที่ 3 ซึ่งมีการออกแบบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยและระบบต่อต้านการก่อการร้ายร่วมอยู่ด้วย ขณะนี้ เวียดนาม มาเลเซีย ต่างก็มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ หากประเทศไทยยังไม่มีการกระจายเชื้อเพลิงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น กับอนาคตของประเทศ” นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีจุดแข็งที่สำคัญคือไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม และหากไม่มีความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยและไม่มั่นใจในตัวบุคลากรที่จะมาควบคุมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ก็ควรให้มีการควบคุมด้วยการติดโทรทัศน์วงจรปิดในทุกจุดทั่วโรงไฟฟ้าเพื่อป้องกันและตรวจสอบเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น สำหรับนายวินัย กาวิชัย กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดตราด กล่าวว่า ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าไปกับภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ แม้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่น้ำร้อนที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศน์ทางทะเล และไม่เชื่อว่านักวิทยาศาสตร์ไทยจะสามารถควบคุมดูแลโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัยได้ นายดุลยพงศ์ วงศ์แสวง อาจารย์ประจำภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลประเทศรัสเซียระเบิดเมื่อ พ.ศ.2529 เป็นเพราะความหละหลวมในระบบรักษาความปลอดภัย แต่ปัจจุบันมีระบบการควบคุมอย่างเข็มงวด เจ้าหน้าที่ควบคุมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต้องผ่านการฝึกและเตรียมความพร้อมนานถึง 18 เดือนและต้องมีการอบรมซ้ำเป็นระยะๆ และขอให้คนไทยเชื่อมั่นในความสามารถของคนไทยด้วยกันเอง ทั้งนี้ท้ายสุดของการเสวนาได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนในประเทศ ซึ่งระหว่างนี้การให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องไปสู่ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศไทยในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ