กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--เอ พลัส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
นายสมชาย ตรีรัตนนุกูล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด เผยว่า ปัจจุบันดิจิตอลคอนเทนท์ (Digital Contents ) ที่มาจากทางอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และมีบทบาทสำคัญสำหรับการเรียน การทำงาน ความบันเทิง และอยู่ในไลฟ์สไตล์เพิ่มมาก ซึ่งหากวิเคราะห์ 50 อันดับเว็บไซต์ทั้งไทยและต่างประเทศที่คนนิยมเข้ามากที่สุดในในช่วงปีนี้ พบว่า เว็บไซน์ Google ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นสังคมออนไลน์หรือ Social Network ได้แก่ Facebook เพราะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พวก Video sharing ก็ยังคงเป็น YouTube หากวิเคราะห์เว็บไซต์ 20 อันดับแรกที่คนไทยนิยมกัน พบว่าเป็นเว็บไซต์จากต่างประเทศ 13 แห่ง มีเว็บไซต์ไทยเพียง 7 แห่ง นั่นหมายถึง คนไทยนิยมดูข้อมูลจากต่างประเทศมากกว่าในไทย แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือเว็บไซต์ที่เข้ามาติดในอันดับแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็คือ 4shared.com, Mediafire.com, 2bbit.com, Hotfile.com นั้น กำลังบอกเราหรือเปล่าว่าคนไทยมีพฤติกรรมโหลดบิท โหลดไฟล์ที่แชร์จากต่างประเทศมากขึ้น นั่นหมายถึงแบนด์วิทที่เชื่อมต่อไปต่างประเทศที่จะต้องขยายมากขึ้น โดยจากสถิติการเติบโตการใช้งานอินเทอร์เน็ทแบนด์วิธต่างประเทศ(IIG) จากเนคเทคในเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา จะพบว่ามีการใช้งานโดยรวมถึง 140 Gbps ซึ่งเติบโตถึง 40 เปอร์เซ็นเมื่อเทียบจากต้นปี ซึ่งก็ยังมีแนวโน้มที่ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
จากความต้องการเข้าถึงดิจิตอลคอนเทนท์ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าทางอินเทอร์ความเร็วสูงแบบมีสาย (ADSL) และไร้สาย ( Mobile 3G/4G ) ผู้ให้บริการล้วนต้องการทำให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานเข้าถึงคอนเทนท์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บรรดาผู้ให้บริการในไทยต่างพากันหาเทคโนโลยี และโซลูชั่นมาช่วยเสริมการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพและประหยัดการเชื่อมต่อต่างประเทศ
“จัสเทลในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงได้ตอบสนองความต้องการดังกล่าว ด้วยการเชื่อมต่อตรง ( Peering ) กับผู้ให้บริการคอนเทนท์ต่างประเทศ เช่น Google, Yahoo, Microsoft, Akamai, Facebook, Twitter, Blackberry ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ได้รับคอนเทนท์จากจุดเชื่อมต่อกับเจ้าของคอนเทนท์รายนั้นๆโดยตรง ขณะเดียวกันยังได้นำ Cache Server ของผู้ให้บริการคอนเทนท์มาวางใน Internet Data Center ของจัสเทลเพื่อให้ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดคอนเทนท์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
ในปัจจุบันศูนย์รวมดิจิตอลคอนเทนท์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ได้กระจัดกระจายไปอยู่ตามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศหรือไอเอสพีไทยแต่ละราย ซึ่งยังไม่เหมือนในบางประเทศที่มีการตั้ง Internet Exchange ที่เป็นศูนย์กลางและเป็นกลางจริงๆ ซึ่งผู้ให้บริการในแต่ละรายมาลงทุนร่วมกัน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อ อีกทั้งยังทำให้มีอำนาจต่อรองผู้ให้บริการคอนเทนท์รายใหญ่มาวางเซิบเวอร์ที่ศูนย์กลางเพียงที่เดียว
นอกจากการรวมศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนแล้ว ยังเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองให้ผู้ให้บริการคอนเทนท์ต่างประเทศนำเซิบเวอร์มาตั้งรวมกันแล้ว สิ่งที่สำคัญคือถ้าประเทศไทยสามารถสร้างคอนเทนท์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ละคร ภาพยนตร์ เกมส์ การ์ตูน กีฬา ข่าวสารและส่งออกไปขายต่างประเทศ ก็อาจจะทำให้แบนด์วิธที่จะเกิดขึ้นจะเป็นด้านส่งออก มากกว่ารับเข้ามาในประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างอำนาจต่อรองแลกเปลี่ยนแบนด์วิธ แบบไม่ต้องซื้อกันได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การตั้งศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล ( Exchange Point) และการสนับสนุนให้สร้างคอนเทนท์ของประเทศไทยล้วนต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างจริงๆ จังๆ นั้นหมายถึงจะทำให้การเติบโตของประเทศพัฒนาไป ทุกๆ ด้าน เนื่องจากดิจิตอลคอนเทนท์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของคนเราไปแล้ว