กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัท (TCON095A, TCON095B) ที่ระดับ “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำธุรกิจ ผลงานที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า รายได้จากค่าเช่าโรงงานที่คาดการณ์ได้ และผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัท ในขณะที่ประเด็นที่ต้องระมัดระวัง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ความเชื่อมั่นในการลงทุนที่ลดลง และความไม่แน่นอนในทางการเมือง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าเอาไว้ได้ คาดว่ารายได้จากค่าเช่าจะค่อยๆ เติบโตเพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยรองรับความต้องการเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจศูนย์โลจิสติกให้เช่าของบริษัท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะรักษาระดับอยู่ที่ 60%-65% ในช่วงก่อสร้างศูนย์โลจิสติกก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50%-55%
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น เป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทย โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 148 โรงซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 347,518 ตารางเมตร ณ เดือนมกราคม 2550 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ได้แก่ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (16.3%) กลุ่มฟิเดลลิตี้ (9.3%) กลุ่มแคปปิตอล (8.5%) นาย ไว เชง ควน ซึ่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการของบริษัท (7.9%) กลุ่มซิตี้เรียลตี้ (6.6%) และกองทุนเพื่อการร่วมลงทุน (6.1%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากการมีประสบการณ์ถึง 17 ปีในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ความได้เปรียบด้านต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด และกลยุทธ์ในการบริหารจัดการการก่อสร้างโรงงานด้วยตนเอง
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น สามารถให้เช่าโรงงานแก่ลูกค้าใหม่ถึง 56 รายเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติลูกค้าใหม่ 51 รายในปี 2547 และ 56 รายในปี 2548 จากการศึกษาของ CB Richard Ellis เมื่อประเมินจากพื้นที่โรงงานที่ให้เช่า บริษัทและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 ในสัดส่วนถึง 70% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งมาก โดยคู่แข่งของบริษัทประกอบด้วย บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีส่วนแบ่ง 10% บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) 10% และ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด 10% รายได้จากค่าเช่าโรงงานสำเร็จรูปของบริษัทเป็นรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนจากการมีโครงสร้างของสัญญาเช่าซึ่งมีอายุ 3 ปี ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 บริษัทมีรายได้จากค่าเช่า 465 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายโรงงานให้แก่ TFUND 1,982 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 1,007 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 ซึ่งอยู่ที่ 64% นั้นคาดว่าจะลดลงถึงระดับ 50%-55% ภายหลังจากบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 2,000 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2549 ซึ่งบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปชำระหนี้และใช้เป็นทุนในการดำเนินงาน
ถึงแม้ว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองในปี 2549-2550 จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม แต่ตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ายังได้รับผลกระทบน้อยกว่าเนื่องจากในช่วงที่ความเชื่อมั่นถดถอย ผู้ประกอบการจำนวนมากนิยมที่จะเช่าโรงงานมากกว่าที่จะมีโรงงานเป็นของตนเอง มาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้ล่าสุดในเรื่องการหักสำรอง 30% สำหรับเงินทุนที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและการเสนอปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม มาตรการการควบคุมเงินทุนน่าจะได้รับการผ่อนปรนในเร็วๆ นี้ โดยที่ภาพรวมของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในระยะกลางถึงระยะยาวจะยังคงดีอยู่อันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทริสเรทติ้งกล่าว