กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--สวทช.
โครงการiTAP(สวทช.) จัดกิจกรรม ‘ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในการผลิตของอุตสาหกรรมไทย ’ ภายใต้งบฯ สนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มูลค่ากว่า 6.5 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือโรงงานที่ต้องการพัฒนาการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้ง ‘ ประหยัดและคุ้มค่า ’ ย้ำ ผู้ประกอบการ ควรเร่งพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดรับกับวิถีชีวิตอุบัติใหม่ โดยเฉพาะ‘พลังงาน’ ถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงที่สุด ที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าช่วยหาวิธีนำพลังงานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อความอยู่รอดต่อไป
นางสาว สนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พลังงานที่เริ่มขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้น ทำให้หลายฝ่ายได้หันมาให้ความสำคัญกับการหาพลังงานทดแทนใหม่ๆ และวิธีที่จะใช้พลังงานอย่างประหยัด โดยเฉพาะประเด็นที่ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันคือ “การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า” เพราะพลังงานมีความจำเป็นต้องใช้และจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อีกทั้งเพื่อสอดรับกับ ‘ วิถีชีวิตอุบัติใหม่’ ซึ่งเป็นผลจากสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมส่งผลต่อเนื่องกับสินค้าและบริการต่างๆ จะต้องเปลี่ยนไปตามความต้องการของวิถีชีวิตใหม่ๆ ฉะนั้น ภาคอุตสาหกรรมในฐานะผู้ผลิตสินค้าและบริการจะต้องเร่งปรับตัวตาม ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านสินค้าและบริการแล้ว ยังมีผลกระทบทางด้านพลังงานอีกด้วย
“ สถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างชะลอตัวในขณะนี้ จึงเหมาะเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการจะหันมามองและพัฒนาตัวเองทั้งเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต และการประหยัดพลังงาน ซึ่งถือเป็นความต้องการพื้นฐานของอุตสาหกรรมไทย และจากการเข้าไปช่วยเหลือและวิเคราะห์ปัญหาพื้นฐานให้กับโรงงานต่างๆที่ผ่านมา ได้พบปัญหาและความต้องการของอุตสาหกรรมที่คล้ายกัน จึงได้จัดกิจกรรมขึ้น 2 โครงการ คือ โครงการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ได้เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ และโครงการการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าขึ้น”
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สวทช. จึงได้จัดสัมมนาหัวข้อเรื่อง “ iTAP ผนึกกำลัง....ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า” ภายใต้โครงการที่เรียกว่า “ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในการผลิตของอุตสาหกรรมไทย” ขึ้นเพื่อเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโครงการดังกล่าว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้าร่วมงานกว่า 80 โรงงาน จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 50 โรงงานประกอบด้วยโรงงานผลิตอาหาร , สิ่งทอ ,ไม้ , และโรงงานผลิตชิ้นส่วนต่างๆ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจประเภทรีสอร์ตและโรงแรม ให้ความสนใจเข้าร่วมงานด้วย ถือเป็นการเปิดตัวโครงการที่ประสบผลสำเร็จดียิ่ง
ผอ.โครงการ iTAP กล่าวว่า “ สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่เริ่มหันมาสนใจเรื่องการประหยัดพลังงานกันมากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญที่สุดไม่ใช่แค่การประหยัดเท่านั้น แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า ซึ่งทาง iTAP ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำโดย ผศ.ดร.สมเกียรติ บุญณสะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ทางด้านพลังงานโดยเฉพาะระบบความร้อนและความเย็น พร้อมเสริมทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย โดยงบประมาณที่ iTAP นำมาใช้สนับสนุนการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จำนวน 6.5 ล้านบาท จากทั้งหมด 100 ล้านบาท และตั้งเป้าโรงงานที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่ำ 10 โรงงานภายใน 1 ปี ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2551 โดยโรงงานที่เข้ารวมโครงการจะได้รับการสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของงบประมาณโครงการ ”
สำหรับกิจกรรมภายใต้โครงการฯ นอกจากจะนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของโรงงานที่จะใช้พลังงานอย่างคุ้มค้าอย่างไร และการพัฒนาปรับปรุงการใช้พลังงานในการผลิตให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าแล้ว ยังมีกิจกรรมพาไปดูตัวอย่างโรงงานที่มีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่บริการอื่นๆ ที่โครงการ iTAP มีให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต , โครงการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (CD) , โครงการวิจัยพัฒนาที่สามารถเข้ายื่นขอสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือ RDC หรือกรณีที่ต้องการยื่นของจดสิทธิบัตรก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้ที่สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี หรือ TLO
ผศ.ดร.สมเกียรติ บุญณสะ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องต้นกำลัง คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าของโรงงานพบว่า กว่า 60-70% อยู่ในกระบวนการผลิต (process) และความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการเปิดไฟทิ้งไว้ , การใช้มอร์เตอร์ที่มีประสิทธิภาพต่ำ และการรั่วไหลของระบบการอัดอากาศ เป็นต้น โดยเฉพาะของเสียหรือไอน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากboilerที่โรงงานน่าจะนำกลับมาผลิตเป็นพลังงานใช้ได้ใหม่
“ บางโรงงานยขาดความรู้และทักษะทางด้านเทคนิคที่จะนำไอน้ำหรือของเสียกลับมาใช้ใหม่อย่างเหมาะสมเนื่องจากปกติการปล่อยน้ำเสียทิ้งจากหม้อไอน้ำ หรือ boilerจะต้องทำทุก 8 ช.ม. และจะเปิดทิ้งไว้ครั้งละประมาณ 40 — 50วินาที ซึ่งการเปิดมากหรือน้อยมักไม่ค่อยมีเกณฑ์กำหนดมากนักเพราะการขาดทักษะในการคำนวณ หากเปิดนานไปจะทำให้เกิดความสูญเสียพลังงาน แต่ถ้าเปิดน้อยไปก็จะทำให้อายุการทำงานของboilerสั้นลง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและความเอาใจใส่ของบุคลากรในองค์กรนั้นๆ ว่าให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานมากน้อยแค่ไหน ”
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สมเกียรติ กล่าวเสริมว่า “ความสูญเสียหรือการใช้พลังงานของโรงงานนั้น ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและผลิตภัณฑ์ของแต่ละโรงงานที่ไม่เหมือนกัน สำหรับในประเทศไทยหากเป็นโรงงานที่มีความทันสมัยส่วนใหญ่จะเกิดการสูญเสียพลังงานค่อนข้างน้อย ต่างจากโรงงานขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีระบบการบริหารงานแบบครอบครัวและมีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศมักจะสูญเสียพลังงานไปค่อนข้างสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตโดยรวม จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ การบริหารจัดการ , วัตถุดิบ และพลังงาน ซึ่ง “พลังงาน” ถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว ดังนั้น หากเราสามารถลดการใช้พลังงานหรือใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุดแล้ว จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง สามารถผลิตสินค้าออกไปแข่งขันกับตลาดโลกได้ และทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น”
สำหรับโรงงานใดที่ต้องการเข้าร่วมในโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2564-7000 ติดต่อ โครงการ iTAP ( สวทช.) หรือที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap หรือ อีเมล์ : itap@tmc.nstda.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net