กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สพว
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เดินหน้าสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ SMEs ทั่วประเทศ รวมพลังสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) กระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ครั้งใหญ่ จัดให้เป็น “ครีเอทีฟ เซาท์ โมเดล” ที่จะพลิก SMEs ภาคใต้เป็น “ต้นแบบ” สู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เสริมสร้างความแข็งแกร่งยกระดับผู้ประกอบการภาคใต้ 21 รายเป็นต้นแบบสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มั่นใจผลความสำเร็จโครงการฯ จะช่วยผลักดันสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจภาคใต้เพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ดำเนินโครงการกิจกรรมสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ SMEs ทั่วประเทศภายใต้งบประมาณไทยเข้มแข็งปี 2555 โดยมีสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) เป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ มุ่งหวังให้เป็น “ครีเอทีฟ เซาท์ โมเดล” ที่พลิก SMEs ภาคใต้เป็นต้นแบบสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถสร้างความแข็งแกร่งและยกระดับผู้ประกอบการในภาคใต้จำนวน 21 ราย แบ่งเป็น กลุ่มผลิตภัณฑ์ 14 ราย และกลุ่มธุรกิจบริการ 7 ราย เป็นต้นแบบในการพัฒนาสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และคาดว่าภายในปี 2554 กลุ่มผู้ประกอบการทั้ง 21 รายนี้จะสามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจในภาคใต้เพิ่มขึ้นได้ปีละไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
โครงการกิจกรรมสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ SMEs ในพื้นที่ภาคใต้ จัดทำเป็น “ครีเอทีฟ เซาท์ โมเดล” ที่จะช่วยพลิกให้ SMEs ภาคใต้เป็นต้นแบบสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เริ่มดำเนินการขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา จนถึงเดือนกันยายน ศกนี้ โดยเป็นกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ เน้นให้ผู้ประกอบการในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคำนึงถึงการนำภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสินทรัพย์ในพื้นที่ที่มีอยู่ในท้องถิ่น นำมาผนวกรวมกับความคิดสร้างสรรค์อย่างไทย โดยสร้างให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ และเป็นการสร้างการเติบโตทางธุรกิจและความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ศ.ดร.ธเนตร นรภูมิพิภัชน์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) กล่าวว่า “ครีเอทีฟ เซาท์ โมเดล” นี้ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยสู่ความสำเร็จหลัก 3 ประการ คือ 1.ผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการ ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์และมีความพร้อมเป็นผู้ประกอบการที่ดี 2.การนำภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ความเป็นภาคใต้มาเป็นทุนสำคัญในการสร้างสรรค์ 3.การตอบสนองความต้องการหรือกระแสนิยมของผู้บริโภค โดยคุณค่าที่ได้จากการพัฒนานำไปสู่การพลิก SMEs ภาคใต้เป็นต้นแบบสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ และการต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในครั้งนี้ ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าในด้านการใช้งาน คุณค่าทางการออกแบบ และมูลค่าเพิ่มในทางการตลาด ซึ่งผลงานออกแบบทั้งหมด ได้มีการนำเสนอออกสู่ตลาดด้วยการจับคู่ธุรกิจและการเจาะช่องทางจัดจำหน่ายรูปแบบต่างๆ ทั้งเป็นการขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด การขายผ่านคู่ค้า/พันธมิตรธุรกิจรายย่อยในแหล่งท่องเที่ยว และการตลาดแบบออนไลน์ ที่เป็นการเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอสินค้าออกสู่สายตาผู้บริโภคทั้งในระดับประเทศและระดับสากล นับเป็นการยกระดับผู้ประกอบการที่สร้างเศรษฐกิจประเทศสู่ความเข้มแข็งอย่างแท้จริง
ความสำเร็จของโครงการฯ ก่อให้เกิดความยั่งยืนของผู้ประกอบการ โดยทางสถาบันฯ ได้มีแนวทางในการพัฒนาโครงการ ด้วยการเริ่มต้นศึกษาถึงภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้อย่างละเอียด และสามารถแยกแยะกลุ่มของวัฒนธรรมให้ปรากฏเป็นภูมิปัญญาในสาขาต่างๆ โดยการดำเนินงานของสถาบันฯ ได้ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่พัฒนาขึ้นมาระดับหนึ่งบนแนวความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งความพร้อมในศักยภาพของการผลิตและการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำเร็จของการผลักดัน พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ยังคำนึงถึงการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา มรดกทางวัฒนธรรม ความงามตามธรรมชาติ และประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่เป็นต้นทุนอันล้ำค่าของการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนา และสรรสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแดนดินถิ่นใต้ ทำให้การสร้างสรรค์งานออกแบบสะท้อนถึงความเฉพาะตัวของเสน่ห์แดนใต้ได้อย่างเด่นชัด
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว)
โทร.02-564 4000 ต่อ 1225 (คุณอาภาพรรณ)