กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ทีดีอาร์ไอ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ทีดีอาร์ไอแนะผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์โครงการความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าเสรี เพิ่มประโยชน์สองต่อ ลดทั้งภาษีและได้ความรู้ เทคโนโลยีมาพัฒนาอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างโครงการความร่วมมือภายใต้ JTEPA (ไทย-ญี่ปุ่น) มีหลายอุตสาหกรรมได้ประโยชน์แล้ว ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร เหล็ก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ผู้วิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากโครงการความร่วมมือและโครงการความตกลงยอมรับร่วม (MRA) เปิดเผยว่า ผลจากความตกลงการค้าเสรีฉบับต่าง ๆ ที่ทยอยบังคับใช้มาต่อเนื่อง โดยในปี 2552 ทำให้ภาคส่งออกและภาคนำเข้าไทยประหยัดภาษีได้เกือบ 8 หมื่นล้านบาท (แม้ยังมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่) และนอกจากประโยชน์ด้านภาษี ผู้ประกอบการไทยยังจะได้ประโยชน์มากขึ้นจากโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ FTA ซึ่งเป็นความช่วยเหลือด้านความรู้และเทคโนโลยีจากประเทศคู่ค้า จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ทั้งผู้ประกอบการส่งออกในการออกแบบ ผลิต และเจาะตลาดคู่ค้า และผู้ผลิตสินค้าในประเทศที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น
โครงการวิจัยเรื่อง ““การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย” ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ได้มอบหมายให้ทีดีอาร์ไอดำเนินการวิจัย จึงมีการศึกษาครอบคลุม การเก็บเกี่ยวประโยชน์จากโครงการความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าเสรีและความตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement : MRA) เป็นช่องทางเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านความรู้และเทคโนโลยี เพิ่มเติมจากประโยชน์ทางตรงที่ได้จากการประหยัดภาษี
โดยศึกษานำร่องโครงการความร่วมมือภายใต้ JTEPA (ไทย-ญี่ปุ่น)ใน 4 สาขาอุตสาหกรรม คือ อาหาร เหล็ก ยานยนต์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบความช่วยเหลือด้านการเงินและบุคลากร ข้อมูล และเอกสารวิชาการต่าง ๆ ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โครงการความร่วมมืออุตสาหกรรมเหล็กไทย-ญี่ปุ่น โครงการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
ผู้วิจัยโครงการนี้ เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือภายใต้ JTEPA เน้นการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นอีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาหลายโครงการมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมทุกปี ยกเว้นโครงการของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เพิ่งเริ่มต้น
โครงการที่มีความคืบหน้าได้แก่ โครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก”ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการส่งออกและการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเจาะตลาดญี่ปุ่น ให้ตรงกับคุณภาพและมาตรฐานอาหารที่บังคับใช้ในญี่ปุ่น พบว่ามีการประชาสัมพันธ์เรื่องราวอาหารไทยในสื่อสาธารณะของญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง มีการถ่ายทอดความรู้ผ่านการอบรม สัมมนา เยี่ยมชมโรงงานและมีผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นมาให้คำแนะนำในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับมาตรฐานอาหารจึงมีรายละเอียดมากและหลากหลายตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยหลายรายสนใจเรื่องการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตมากขึ้น อีกจำนวนหนึ่งมองเห็นช่องทางธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่ยังคงต้องการความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการผลิตจากญี่ปุ่น
โครงการความร่วมมืออุตสาหกรรมเหล็กไทย-ญี่ปุ่น เป็นเรื่องการส่งเสริมความรู้และเทคโนโลยีด้านเหล็กให้แก่ไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมงานโครงสร้างเหล็ก และเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ศึกษาการใช้หัวเผาแบบรีเจนเนอเรทีฟ (Regenerative Burner) และการหลอมเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (EAF) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยด้านการประหยัดพลังงานในการหลอมเหล็ก มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเหล็กในอนาคต ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีความรู้และเทคโนโลยีด้านนี้น้อย โครงการนี้จึงสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้นำมาปรับปรุงมาตรฐานการผลิตเหล็กของตนเอง โดยปัจจุบันมี 2โรงงานเหล็กที่เข้าร่วมโครงการได้ติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังได้มอบลิขสิทธิ์ในการแปลเอกสารทางวิชาการด้านวิศวกรรมเหล็กของญี่ปุ่นให้ไทยเพื่อเผยแพร่อีกด้วย
โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อส่งเสริมการตลาดและการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของไทย โครงการมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม มีการทำวิจัยทั้งการทำวิจัยเชิงลึกด้านตลาดสิ่งทอของญี่ปุ่น มีการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ โครงการความร่วมมือด้านการฟอกย้อม และโครงการพัฒนาผ้าผืน/ผ้าสำเร็จรูปสู่ตลาดญี่ปุ่น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ในระดับที่น่าพอใจ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าความรู้และเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเป็นประโยชน์แม้ว่าจะยังไม่ก่อให้เกิดผลทางการค้ามากนัก โครงการพัฒนาผ้าผืนเกิดผลเป็นรูปธรรมคือ ชิ้นงานผ้าผืนซึ่งถูกนำไปจัดแสดงในงาน Biff&Bil 2010 มีผู้ซื้อจากญี่ปุ่นเดินทางมาเยี่ยมชม และเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ผลิตคือต้องการให้มีกิจกรรมในลักษณะการจับคู่ธุรกิจ ให้ผู้ซื้อพบผู้ขายโดยตรง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โครงการความร่วมมือภายใต้ JTEPA ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเข้าถึงตลาดและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กิจกรรมที่ดำเนินมาส่วนใหญ่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมในระดับที่น่าพอใจ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นว่ากิจกรรมเป็นประโยชน์ แต่การนำไปใช้ประโยชน์ต่อเนื่องในธุรกิจของผู้ประกอบการยังมีเพียงบางกิจกรรมเท่านั้น อุปสรรคในการใช้ประโยชน์มาจากทั้งในกระบวนการเจรจาและในการดำเนินโครงการ
ส่วนโครงการความตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement : MRA) เป็นอีกส่วนสำคัญที่มาช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านการ ยอมรับร่วมกันในมาตรฐานสินค้าและมีการจัดตั้งหน่วยงานรับรองมาตรฐานกลางดังกล่าวขึ้นมา ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายให้ ผู้ประกอบการได้มีความสะดวกมากขึ้น โดยทำการศึกษาเบื้องต้นกับสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กับอาเซียน และกับญี่ปุ่น
ปัจจุบันในอาเซียนมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองเพียง 13 แห่ง โดยเป็นห้องปฏิบัติการที่อยู่ในประเทศไทย 5 แห่ง ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการยังมาใช้ประโยชน์น้อย เนื่องจากยังเป็นกรอบความร่วมมือยังไม่ครอบคลุมมากเท่าใดนัก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและจำเป็น เนื่องจากในปี 2554 ในอาเซียนจะมีการบังคับใช้ความตกลง “AHEEER” ซึ่งก้าวไปอีกขั้น นั่นคือ การผสานกรอบมาตรฐานกลางกว้าง ๆ ที่ต้องการให้ประเทศในอาเซียนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของความตกลง JTEPA ผู้ประกอบการยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากห้องปฏิบัติการเนื่องจากหน่วยงานรับรองของไทยยังไม่ได้รับการรับรองจากประเทศญี่ปุ่น
นายสุนทร กล่าวด้วยว่า หากผลประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีด้านภาษีเหมือนเป็นหน้าบ้านเพราะผลประโยชน์เป็นตัวเลขที่เห็นชัด แต่โครงการความร่วมมือเป็นเหมือนหลังบ้านที่ต้องพัฒนาคู่กันไป เป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้ประโยชน์ซึ่งหากไม่มี FTA แล้วก็ไม่แน่ใจว่า เราจะได้รับความช่วยเหลือแบบนี้หรือไม่ โครงการความร่วมมือจึงจำเป็นและควรต้องได้รับการส่งเสริม.