“วิศวะจุฬาฯ” โชว์ศักยภาพ เจ้าภาพจัด “IDC RoBoCon 2007”

ข่าวทั่วไป Monday July 23, 2007 14:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิศวะจุฬาฯ ประกาศความพร้อม โดยได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัย Tokyo Institute of Technology หรือโตเกียวเทค ประเทศญี่ปุ่น ให้จัดการแข่งขันระดับนานาชาติ “การแข่งขันหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ IDC RoBocon 2007” (International Design Contest) ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย พร้อมชมไฮไลท์เด็ดรอบตัดสิน 18 ส.ค.นี้ ภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ ไบเทค บางนา
ผศ.มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสประเทศไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 120 ปี โดยทางมหาวิทยาลัย Tokyo Institute of Technology หรือโตเกียวเทค ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้เกียรติประเทศไทย เป็นตัวแทนจัดการแข่งขันการสร้างหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ หรือ IDC RoBoCon2007 (International Design Contest) ขึ้น ในระหว่างวันที่ 6-18 สิงหาคม 2550 นี้ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะไฮไลท์สำคัญรอบตัดสินวันที่ 18 สิงหาคม ทุกทีมจะต้องไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ หรือไบเทค ซึ่งในการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์รายการนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นนอกกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งเดิมทีจะประกอบด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี บราซิล และเกาหลีใต้
สำหรับกติกาในการแข่งขันนั้น แต่ละประเทศต้องส่งตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมได้ไม่เกินประเทศละ 12 คน จากนั้นจะแบ่งนักศึกษาทั้งหมดออกเป็น 12 ทีม หรือ 12 สี โดยแต่ละสีจะไม่มีตัวแทนประเทศตัวเองอยู่ภายในทีมเดียวกัน และหลังจากรวมทีมแล้ว แต่ละทีมจะได้รับชุดเครื่องมือและอุปกรณ์ (Kit) 1 ชุด พร้อมด้วยงบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อซื้ออุปกรณ์สร้างหุ่นยนต์บังคับด้วยมือเพิ่มเติม โดยโจทย์ทางผู้จัดการแข่งขันจะเป็นผู้กำหนดขึ้นซึ่งต้องใช้ชุดอุปกรณ์ที่เตรียมให้ และหาซื้อเพิ่มเติมได้ แต่ต้องไม่เกินงบประมาณที่เตรียมให้ และไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาใช้ในการแข่งขันด้วย
“ความสนุกของการแข่งขันอยู่ที่ การแก้โจทย์ ที่ผู้แข่งขันจะต้องสร้างหุ่นยนต์ ภายใต้อุปกรณ์และเงินเพียงไม่กี่ร้อยบาท สิ่งสำคัญสุดเป็นการท้าทายความสามารถของนักศึกษาไทยจากหลากหลายสถาบัน และนักศึกษาจากสถาบันชื่อดังระดับโลก เช่น MIT ซึ่งรูปแบบของการแข่งขัน และโจทย์ที่ตั้งขึ้น เราได้รับการสนับสนุนจากโตเกียวเทค ที่มีประสบการณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งการแข่งขันในรายการนี้ คาดว่าจะสร้างความตื่นตัวในเรื่องเทคโนโลยี ให้กับเยาวชนไทยเป็นอย่างมาก เพราะการแข่งขันครั้งที่ผ่านๆ มาในต่างประเทศ ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมาก บางประเทศถึงขั้นขายตั๋วเข้าชมกันเลยทีเดียว และเชื่อว่าการแข่งขันในไทยครั้งนี้ จะได้รับความนิยมสนใจจากประชาชนเช่นกัน”
สำหรับความพร้อมของนักศึกษาไทยนั้น ผศ.มานพ กล่าวว่า ขณะนี้มีการเตรียมตัวแทนกันบ้างแล้ว โดยจะเป็นนิสิตจากจุฬาลงกรณ์ เป็นหลัก และจะเชิญตัวแทนจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้าร่วมด้วย อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้านครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ส่วนตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศนั้น ขณะนี้ตอบรับแล้ว 6 ประเทศ มีเพียงเยอรมนีเท่านั้น ที่ขอสละสิทธิ์ เพราะเตรียมทีมไม่ทัน
ด้าน รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรหลัก ที่สนับสนุนการแข่งขัน IDC RoBoCon2007 เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างโตเกียวเทค กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งทั้งสองสถาบันมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างต่อเนื่อง และเนื่องในโอกาสที่ไทยกับญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 120 ปี โดยทางโตเกียวเทค มีแนวคิดจัดแข่งขัน IDC RoBoCon2007 ในเมืองไทยแทนโตเกียวเทค ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกทั้งหมด จึงทำให้การแข่งขันครั้งนี้ จึงเกิดขึ้นในประเทศไทยดังกล่าว
“การแข่งขันครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เยาวชนไทย จะได้พัฒนาทั้งด้านความคิดและการทำงานเป็นทีมร่วมกับนักศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีระดับโลก อย่างไรก็ตาม หากมีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนงบประมาณให้มากขึ้น เชื่อว่าอนาคตเด็กไทยจะต้องได้รับการพัฒนา และมั่นใจว่าไทยจะก้าวไปเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของการแข่งขัน IDC RoBoCon ต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน” รศ.ดร.ปริทรรศน์ กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 0 2218 6337
08 — 5239 - 8400,08 — 6334 - 1894

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ