กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ก.ไอซีที
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย บรอดแบนด์แห่งชาติ ว่า ในส่วนของกระทรวงไอซีที ได้นำเสนอ (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติให้คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (กทสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2553 โดยนโยบายบรอดแบนด์ แห่งชาติจะเป็นนโยบายหลักในการทำให้โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศทั่วประเทศสามารถรองรับบริการในระดับบรอดแบนด์ ซึ่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวม ทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย ตลอดจนทำให้เกิดการเข้าถึงบริการบนบรอดแบนด์ รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
“ในการดำเนินโครงการระดับชาตินี้ จำเป็นต้องวางแผนอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้น เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างคุ้มค่า และลดปัญหาการลงทุนที่ซ้ำซ้อน โครงการนี้จะเป็นพื้นฐานในการสร้างโอกาส ความเสมอภาค คุณภาพชีวิตที่ดี และอนาคตใหม่ๆ แก่คนไทยทุกคน ตลอดจนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้พร้อมสู่การแข่งขันระดับสากลในศตวรรษที่ 20
สำหรับการดำเนินงานนั้น นอกจากกระทรวงฯ จะได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติแล้ว ในส่วนของรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงฯ ก็ได้รับมอบนโยบายให้ดำเนินโครงการถนนไร้สาย หรือ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้กระจายเข้าถึงในทุกตำบล หรือขยายไปให้ถึงทุกหมู่บ้าน โดยมอบหมายให้บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที รับผิดชอบในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนทุกคนทุกพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมถึงข้อมูล และสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างคุ้มค่า ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการดิจิทัลของประชาชน” นายจุติ กล่าว
ในส่วนของ บมจ.ทีโอที ได้วางแผนที่จะดำเนินการติดตั้งอินเทอร์เน็ตไร้สายในระดับตำบลทั้งหมด 7,409 ตำบลทั่วประเทศไทย โดย ทีโอที มีแผนที่จะขยายพื้นที่ในข่ายสายตามแผนการดำเนินงานโครงการ TOT 3G จำนวน 2,207 ตำบล ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 5,202 ตำบล แบ่งเป็นในข่ายสาย 2,737 ตำบล และนอกข่ายสาย 2,465 ตำบล ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแบบผสมผสานตามสภาพของพื้นที่ คือเทคโนโลยี IPStar/WiFi ADSL/WiFi Wi-MAX และ TOT 3G ที่ระดับความเร็ว 2 Mbps โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี นับจากโครงการได้รับอนุมัติ
พร้อมกันนี้ ทีโอที ยังได้จัดทำโครงการนำร่องขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดตรัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ จังหวัดพิษณุโลกจำนวน 193 ตำบล เพื่อให้บริการในพื้นที่นอกข่ายสายโดยใช้เทคโนโลยี IPStar/Wi-Fi และเพื่อเป็นการทดสอบการให้บริการ ทีโอที ยังได้จัดทำโครงการนำร่องเร่งด่วน จำนวน 87 จุด ในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว โดยแบ่งเป็น จังหวัดตรัง 65 จุด จังหวัดนครศรีธรรมราช 12 จุด และจังหวัดพิษณุโลก 10 จุด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และทดลองให้บริการแบบมีกำหนดเวลาในอัตราค่าบริการราคาถูกไม่เกิน 199 บาท/เดือน ที่ความเร็วสูงสุด 2 Mbps
นอกจากนั้น ทีโอที ยังได้ดำเนินการโครงการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) เพื่อให้บริการบรอดแบนด์บนความเร็วสูงตั้งแต่ 10 Mbps ถึง 100 Mbps ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนมีการขยายและเติบโต โดยในปี 2553 นี้ ได้ดำเนินการติดตั้งและให้บริการแล้วจำนวน 6,368 ports แบ่งเป็นจังหวัดภูเก็ต จำนวน 3,200 ports นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก คือ อมตะนคร มาบตาพุด เวลโกรว์ จำนวน 2,144 ports เกาะสมุย จำนวน 1,024 ports และมีโครงการแผนงานที่จะขยายโครงข่ายในปี 2554-2556 อีกจำนวน 511,040 ports โดยในอนาคต ทีโอที ได้กำหนดแผนโครงการ broadband wireless access ซึ่งเป็นโครงการที่จะนำศักยภาพโครงข่ายที่ ทีโอที มีอยู่ มาให้บริการโดยทั่วถึงในทุกจุด โดยการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายทั้ง 3G /WiMAX / Wi-Fi
ส่วนการให้บริการบรอดแบนด์เพื่อประโยชน์ของประชาชน ทีโอที ได้ดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ TOT IT School เป็นโครงการที่ให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนได้มีโอกาสในการใช้ไอทีเพื่อการศึกษา จำนวน 80 โรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ทีโอที ยังได้ร่วมกับ กทช. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) จัดทำโครงการศูนย์ทางไกลเพื่อพัฒนาการศึกษาและพัฒนาชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะมีการจัดทำศูนย์ทางไกลในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดมหาสารคามจำนวน 20 โรงเรียน และ ทีโอที จะเข้าไปดำเนินการปรับปรุงติดตั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1-2 Mbit/sec โดยใช้ข่ายสื่อสาร ADSL Wi MAX หรือข่ายสื่อสารดาวเทียม IP Star ตามความเหมาะสม
สำหรับการดำเนินโครงการโครงข่ายบรอดแบนด์ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม นั้น แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. แบบ Wireline ได้ขยายการให้บริการ Broadband Internet (ADSL) เพิ่มขึ้น 20 % ทั่วประเทศ โดยเน้นติดตั้ง Node ในพื้นที่เขตตะวันออก และเขตตะวันตก รวมทั้งได้ดำเนินการขยายพื้นที่การให้บริการ Broadband Internet ผ่านโครงข่ายเคเบิลทีวี (CAT Cable Broadband ) จำนวน 300 Node ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2553 จะติดตั้งได้ 100 Node โดยจะติดตั้ง Node ผ่านผู้ประกอบการเคเบิลทีวีเพิ่ม พร้อมกันนี้ยังจะขยายพื้นที่การให้บริการผ่านโครงการ Fiber ( FTTX ) ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี(พัทยา) ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์(หัวหิน) นครราชสีมา สงขลา(หาดใหญ่) อุดรธานี อุบลราชธานี ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี(เกาะสมุย) รวมถึงจัดการให้บริการ CAT - TeleHouse โดยคาดว่า CAT จะเป็น Carrier - neutral Data Center Service รายแรกของประเทศ นอกจากนี้ยังจะมีการขยายโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำอ่าวไทย โดยจัดสร้างเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำในพื้นที่อ่าวไทยเชื่อมโยงจากจังหวัดชลบุรี ไปยังจังหวัดสงขลา โดยใช้เทคโนโลยี DWDM และดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงข่าย IP เพื่อให้รองรับการใช้งานรับส่งข้อมูลความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนรูปแบบที่ 2.Wireless กสทฯ ได้ให้บริการ CAT WiFi ทั่วประเทศ จำนวน 35,000 จุด รวมทั้งขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการอย่างน้อย 90% ของประชากรและขยายความจุ (Capacity ) ทั้งด้านเสียงและข้อมูล รวมถึงจัดทำโครงการ Telemedicine System เพื่อดูแลผู้ป่วยวิกฤติ การช่วยฟื้นคืนชีพ และการส่งสัญญาณชีพผู้ป่วยในรถพยาบาลโดยผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CAT CDMA ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และช่วยพัฒนาการสื่อสารระหว่างรถพยาบาลและโรงพยาบาลมากขึ้น โดยปัจจุบันได้ให้บริการในรพ.จังหวัดอุบลราชธานี รพ.จังหวัดยโสธร และจังหวัดใกล้เคียง
รูปแบบที่ 3 เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม โดย กสทฯ ได้ดำเนินโครงการ “สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน” เพื่อเพิ่มศักยภาพอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใน 76 โรงเรียน 76 จังหวัดในปีแรก และจะขยายโครงการต่อไปทุกอำเภอทั่วประเทศในระยะต่อไป ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้โรงเรียนและชุมชนได้ใช้เทคโนโลยี และพัฒนาศักยภาพทางการศึกษา เปิดโอกาสความเท่าเทียมด้านการศึกษาของเยาวชนไทย นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการ Telehealth ซึ่งเป็นโครงการสาธารณสุขสู่ถิ่นทุรกันดาร โดยได้ร่วมมือกับมูลนิธิแพทย์อาสาในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ส่งเสริมการให้บริการทางการแพทย์ผ่านบริการบรอดแบนด์ไร้สายจากมือ 3G และโครงข่าย CAT CDMA