กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 ในหัวข้อ “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทยท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง” เพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน ในการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา และเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรม มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
โดยมีนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ, นายสมควร รวิรัช รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ คนที่หนึ่ง, นางภรณี
ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ คนที่สอง, คณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ, สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และ ผู้เข้าร่วมการสัมมนา จากทุกภาคส่วน กว่า 800 คน ร่วมการสัมมนาในครั้งนี้
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทยของรัฐบาล” มีใจความสำคัญดังนี้
การกำหนดหัวข้อว่า การปฏิรูปท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลง นั้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสภาวะของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เราอยู่ในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นจากภายในและไม่ว่าจะเป็นจากภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญก็คือความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงซึ่งหลายครั้งมีลักษณะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างก็ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถที่จะทำให้สังคมนั้นรับมือได้ ด้วยการดำเนินนโยบายหรือการแก้ไขปัญหาแบบเดิม ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูป
สภาพปัญหาที่เศรษฐกิจ สังคมไทยเผชิญในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากการดำเนินการในหลาย ๆ ด้านของเรายังไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะสะท้อนออกมาจากในแง่ของปัญหาหรือความเดือดร้อนในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งในบางเรื่องก็อาจจะเข้าขั้นวิกฤติ อย่างเช่นที่เราได้พบเห็นปัญหาในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง แล้วก็กลายเป็นความขัดแย้งในสังคมในปัจจุบัน หรือการจากการที่ประเทศไทย หรือเศรษฐกิจ สังคมไทยได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก จากปัญหาความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของภูมิอากาศ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งการปฏิรูปนั้นเป็นสิ่งที่ผมมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับถึงความจำเป็นและความสำคัญในปัจจุบัน
โดยขณะนี้จะเห็นได้ว่าหลายภาคส่วนก็มีการขับเคลื่อนเพื่อที่จะสนับสนุนการปฏิรูปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการที่เราจะนำมาสู่ความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมประเทศชาติของเรา สิ่งสำคัญในกระบวนการปฏิรูปก็คือการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่ในขั้นตอนของการที่จะจัดทำกรอบความคิดหรือนำไปสู่ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายเพื่อที่จะให้เราทราบความต้องการที่แท้จริงของภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีความหลากหลาย แต่ในขั้นตอนที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาต่อไปก็เช่นเดียวกัน การแก้ไขปัญหาในยุคปัจจุบันจะประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยความร่วมมือและความยอมรับจากประชาชน ซึ่งการจะได้รับความร่วมมือและความยอมรับนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนนั้นมีส่วนร่วม แทบจะกล่าวได้ว่าในทุกขั้นตอนตั้งแต่การกำหนดกรอบความคิด นโยบาย ไปจนถึงการนำนโยบายหรือความคิดเหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติ
รัฐบาลเองก็ได้มีการดำเนินการในการเปิดโอกาสให้ประชาชนนั้นมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการที่เราได้ให้สำนักงานสถิติฯ ได้ไปสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการไปจัดการระดมความคิดเห็นในภาคส่วนต่าง ๆ รวมไปถึงโครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิดร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ที่เราดำเนินการไปในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม แล้วก็จะได้มีการดำเนินการต่อเนื่องในการติดตาม แล้วก็นำเอาผลของการสะท้อนความคิดเห็นเหล่านั้นมาสังเคราะห์ ซึ่งในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ ทางคณะทำงานที่ทำหน้าที่ในการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ก็จะได้นำข้อสรุปที่เป็นข้อเสนอแนะว่าสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลในการดำเนินงานทางด้านการปฏิรูปนั้นจะเป็นอย่างไร พร้อม ๆ กันไปนั้นก็เป็นการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการอีก 2 ชุด ซึ่งรัฐบาลได้จัดตั้งขึ้น นั่นก็คือคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีท่านอดีตนายกฯ อานันท์ เป็นประธาน รวมไปถึงคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปที่มีคุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน
ผมก็ได้รับรายงานเป็นระยะ ๆ ถึงกรอบแนวทางการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด แล้วก็มั่นใจครับว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีข้อเสนอแนะ หรือจะมีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้การขับเคลื่อนในเรื่องของการปฏิรูปนั้นเป็นไปด้วยดี ขณะเดียวกันภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลเองได้มีการกระตุ้นหรือเชิญให้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา สื่อสารมวลชน ล้วนแล้วมีความตื่นตัวในการที่จะเดินหน้าในการผลักดันวาระในเรื่องของการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ ระยะเวลาจากนี้ไปจนถึงประมาณกลางปีหน้ายังมีความสำคัญอีกในแง่ของการที่รัฐบาลจะต้องมีการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งจะต้องมีการประกาศใช้ต่อไป
กรอบความคิดที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในแง่ของการปฏิรูปก็ควรที่จะได้มีการบรรจุเข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับนี้ เพราะว่างานทางด้านการปฏิรูปนั้นแม้ว่าเราพยายามเร่งรัดที่จะให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่ข้อเท็จจริงก็คือการปฏิรูปหลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ ด้านจำเป็นที่จะต้องใช้เวลากว่าที่เราจะเห็นผล และความจำเป็นที่จะต้องให้การปฏิรูปนั้นเดินหน้าไปบนกรอบความคิดที่มีความต่อเนื่องก็จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ฉะนั้นถ้าหากว่ากรอบความคิดเหล่านี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็จะเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งในการที่จะให้เกิดความต่อเนื่องในงานทางด้านนี้
สำหรับการสัมมนาในวันนี้นั้นซึ่งได้มีการเจาะจงในเรื่องของการดำเนินการใน 3 มิติด้วยกัน ผมอยากจะขอใช้โอกาสนี้ในการสะท้อนแนวความคิดที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในแต่ละด้าน ซึ่งเริ่มต้นจากทางด้านเศรษฐกิจที่อยากจะเรียนเน้นย้ำว่า แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยนั้นอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวและเป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างที่จะรวดเร็ว แข็งแกร่งจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเราก็ยังคงมีปัญหาอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของปัญหาการกระจายรายได้ กระจายโอกาส และการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในแง่ของเศรษฐกิจชัดเจน รวมไปถึงความจำเป็นอย่างต่อเนื่องที่เราจะต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงว่า ขณะนี้เราจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องของการที่เศรษฐกิจไทยจะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพียงในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ไป ไปจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของกติกาโลกอีกหลาย ๆ เรื่องที่จะมาเกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน ไปจนถึงการที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ภาคเศรษฐกิจทุกภาคจะต้องมีการปรับปรุงในแง่ของประสิทธิภาพเพื่อสามารถที่จะแข่งขันได้ในอนาคตต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้การเดินหน้าในการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปมีความสำคัญ บางเรื่องรัฐบาลได้ดำเนินการไปอย่างชัดเจนแล้วต่อ เนื่องจากการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เราผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบขนส่ง คมนาคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการศึกษา หรือไม่ว่าจะเป็นในเรื่องระบบสุขภาพที่โครงการไทยเข้มแข็งจะต้องมีการเดินหน้าต่อเนื่องต่อไปอีก ก็ประมาณ 2-3 ปีงบประมาณที่ถือว่า เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการลงทุนครั้งนี้ก็จะทำให้ภาคการเกษตร โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่ได้เข้าถึงแหล่งน้ำ มีความมั่นคงมากขึ้นในด้านนี้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร เราจะได้เห็นการลดต้นทุนในเรื่องของโลจิสติกส์ ผ่านการมีโครงข่ายของการขนส่งคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นระบบราง หรือถนนหนทาง และพร้อม ๆ กันไปนั้นการกระจายในเรื่องของการบริการทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข ก็จะทำให้ทรัพยากรคนมีความเข้มแข็งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อไป
ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเพิ่มมูลค่าโดยไม่ใช้ทรัพยากร เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับความท้าทายที่เราจะต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือการสะท้อนแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี โดยจะส่งเสริมให้ทุกภาคเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการของการคิดและการสร้างสรรค์ และนำไปสู่การพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของไทยนั้นสามารถแข่งขันได้ มีชื่อเสียง แล้วก็สามารถที่จะเข้าไปสู่ตลาดต่าง ๆ ได้ทั่วโลกเช่นเดียวกัน ซึ่งการดำเนินการทางเศรษฐกิจในทั้งหมดนี้นอกเหนือจากเป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจสามารถที่จะขยายตัวในอัตราที่รองรับการเติบโตของประชากรและความต้องการของประชาชนได้แล้ว ยังเป็นแนวคิดที่จะสอดคล้องกับการแก้ปัญหาในเรื่องของการกระจายรายได้ด้วย เพราะทุกนโยบายที่ดำเนินการในขณะนี้จะคำนึงถึงเรื่องของการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนเป็นลำดับแรก
นอกจากนั้น รัฐบาลก็กำลังมีการดำเนินการในการที่จะต้องปรับปรุงหรือปฏิรูปโครงสร้างอีกหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบภาษีอากร ระบบการออมภายในประเทศ ซึ่งก็จะไปเชื่อมโยงกับการทำงานทางด้านสังคมซึ่งเป็นมิติที่ 2 ที่ผมจะขออนุญาตพูดถึงในวันนี้ ในส่วนของมิติทางด้านสังคมนั้น สิ่งที่รัฐบาลกำลังมุ่งเน้นจะมี 2 ด้านครับ ซึ่งจะมุ่งไปที่เรื่องของคุณภาพของคน ด้านหนึ่งก็คือการพัฒนาความสามารถและทักษะของคนซึ่งจะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก ทั้งในแง่ของการที่จะรองรับความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจและในแง่ของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ตรงนี้มาตรการหลายมาตรการที่ดำเนินการทั้งในส่วนของการศึกษาและการสาธารณสุขจะนำไปสู่การเพิ่มพูนศักยภาพและขีดความสามารถของคนของเรา ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่การดูแลเรื่องของโภชนาการ และการพัฒนาทางสมองของเด็กเล็ก ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะถูกละเลยไปบ้าง
พรุ่งนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะมีการประกาศในเรื่องของไอโอดีน ซึ่งยังมีปัญหาขาดแคลนไอโอดีนอยู่ในคนของเรา การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้ลูกหลานของเราอยู่ในภาวะซึ่งสามารถได้รับการดูแลในช่วงที่สำคัญที่สุดในแง่ของการพัฒนาสมองไปจนถึงการที่เราเดินหน้าต่อเนื่อง ในเรื่องของการศึกษาฟรี 15 ปี ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพผ่านการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 นี้จะต้องมุ่งไปที่เป้าหมายสุดท้ายปลายทางก็คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและความพร้อมของคนที่จะสามารถเรียนรู้และสามารถที่จะพัฒนาตนเองได้ ซึ่งก็จะมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการยกระดับคุณภาพของสถานศึกษาต่าง ๆ ไปจนถึงเรื่องของการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ก็คือครู ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ทุ่มเททรัพยากรทางด้านนี้เป็นพิเศษ พร้อม ๆ กันไปในแง่ของการดูแลสุขภาพนั้นก็จะมีการพัฒนาการให้บริการทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่ไปถึงพื้นที่ต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นลงไปสู่ในระดับตำบลที่จะมีโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพประจำตำบล การทำงานของ อสม. ควบคู่ไปกับการมีแผนและมีงบประมาณที่สนับสนุนงานทางด้านนี้ ซึ่งนอกเหนือจากการดำเนินการตรงนี้แล้ว การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การปฏิรูประบบการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และสามารถนำเอาองค์ความรู้นั้นไปเชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจได้ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นสำคัญหรือหัวข้อสำคัญของการปฏิรูปทั้งสิ้นในการที่จะยกระดับขีดความสามารถของคนของเรา ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้นที่รัฐบาลต้องมีการดำเนินการก็คือเร่งสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตของทุก ๆ คน
ตรงนี้จะเห็นได้ว่าระบบสวัสดิการที่กำลังสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2559 ปี 2560 เราจะมีระบบสวัสดิการที่ชัดเจนครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร อย่างเช่นที่เรากำลังจะดำเนินการผลักดันกองทุนเงินออมแห่งชาติ กองทุนสวัสดิการชาวนา รวมไปจนถึงการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมเพื่อที่จะให้สามารถเข้าไปสู่พี่น้องประชาชนที่ประกอบาอาชีพอิสระหรือเป็นแรงงานนอกระบบได้มากยิ่งขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นแนวทางที่สำคัญในการที่จะทำให้เราสามารถสร้างความมั่นใจให้กับคนของเรา เนื่องจากว่าความมั่นคงมีความสำคัญมาก ท่ามกลางภาวะความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในระบบสวัสดิการที่เราจะสร้างขึ้นมานั้นก็จะไม่เป็นระบบที่รัฐบาลหยิบยื่นให้แต่เพียงฝ่ายเดียว และจะต้องไม่เป็นระบบซึ่งมีปัญหาในเรื่องของความยั่งยืนทางด้านการเงิน การคลัง แนวคิดจึงมีความชัดเจนว่าการสร้างระบบสวัสดิการนั้นเราจะเป็นระบบที่ประชาชนนั้นจะต้องมีส่วนร่วมด้วย
ดังจะเห็นได้ว่า กองทุนเงินออมแห่งชาติก็ดี การสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนก็ดี อยู่บนหลักการที่ว่าประชาชนเองนั้นต้องสามารถที่จะออมเงินและมีส่วนร่วมในการสมทบเงินเข้ากองทุนที่จะดูแลตนเอง เพื่อที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ต่อไป ถ้าหากเราสามารถที่จะทำในเรื่องของความรู้ ความสามารถ และความมั่นคงของมนุษย์ให้เกิดขึ้นได้ ผมก็มั่นใจว่าตรงนี้จะเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่สุดของสังคม ของเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งระบบการเมืองของไทย
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของสังคมนั้นนอกเหนือจากการดูแลเรื่องของคนเป็นอับดับแรกแล้ว ความจำเป็นในการที่จะต้องมีการปฏิรูปในเรื่องของการทำงานของหลายกลไกที่ปัจจุบันนั้นต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่ในการแก้ไขปัญหาทางสังคม ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาความรุนแรงก็เป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นโจทย์สำคัญของการปฏิรูปในรอบนี้ ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาหรือการปฏิรูปในส่วนนี้ก็จะต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงกลไกอีกหลายกลไกด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกลไกของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมไปจนถึงการรณรงค์เกี่ยวข้องกับค่านิยม วัฒนธรรมต่าง ๆ ในสังคมที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการนำไปสู่การเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรัง อย่างเช่น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังระดมความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อนำไปสู่แนวทางของการปฏิรูปและการแก้ไขปัญหาในรูปแบบใหม่ต่อไป
สำหรับมิติสุดท้ายก็คือเรื่องของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในส่วนนี้เราจะเห็นได้ว่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนาในปัจจุบัน ตัวอย่าง เช่น ปัญหาของมาบตาพุด ไปจนถึงเรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มากขึ้นในหลายพื้นที่ในเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากร หรือการจัดสรร หรือการใช้ทรัพยากรก็จะต้องนำไปสู่การปฏิรูปกลไกต่าง ๆ ในการดูแลทางด้านนี้ด้วย การที่รัฐบาลผลักดันกติกาที่ชัดเจนแล้วขณะนี้ในเรื่องของมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญก็ดี การที่เรามีโครงการสำคัญ ๆ ที่จะทำให้เรามีฐานข้อมูลในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กรณีของที่ดินก็ดี เป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความท้าทายที่เราจะต้องเผชิญต่อไป
แท้ที่จริงแล้วในสังคมของเราหรือในประเทศของเราก็คงจะมีอีกหลายปัญหา ซึ่งอาจจะยังไม่ได้มีการกล่าวถึงได้ครอบคลุม แต่ว่าการขับเคลื่อนใน 3 มิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ผมคิดว่าจะเป็นหัวใจและเป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งในการสัมมนาในวันนี้ก็หวังเป็นอย่างยิ่งครับว่าจากข้อเสนอแนะที่ได้มีการระดม ผ่านการจัดการระดมความคิดเห็นในภูมิภาคต่าง ๆ และการที่มีตัวแทนของทุกภาคส่วนมาอยู่ในห้องประชุมแห่งนี้จะทำให้เราได้ข้อคิด ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป ซึ่งผมขอยืนยันว่าทุกความคิดเห็นที่มีการสะท้อนนั้นจะนำไปสู่การสังเคราะห์ของสภาที่ปรึกษาฯ เอง และจะนำไปสู่การดำเนินการของรัฐบาลเพื่อที่จะปรับปรุงให้แนวทางการปฏิรูปที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนควบคู่ไปกับกลไกต่าง ๆ ของสังคมนั้นสอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงต่อไป
บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว ผมขอเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และขอให้ทุกท่านที่เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการปฏิรูปอย่างเต็มที่ และขออวยพรให้การจัดงานประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ทุกประการ และขอให้ทุกท่านประสบความสุข ความเจริญโดยทั่วกัน
จากนั้น นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ ได้ยื่นความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “การปรับปรุงการบริหารจัดการและการบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ” ต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โทร. 02 141 3246 - 53