กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--ไอแอม พีอาร์
สพร. จัดกิจกรรม“พิพิธภัณฑ์ใส่กล่อง” หนุนเยาวชนนำวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทย มาผสมผสานกับไอเดียใหม่ๆ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกร่วมสมัย ไม่เหมือนใคร ใช้ได้จริง และมีอัตลักษณ์ของความเป็นไทย
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) จัดทำโครงการ พิพิธภัณฑ์ใส่กล่อง (Museum Take Away Project) เปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนไทยใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าของที่ระลึก นำเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยมาถ่ายทอดและสื่อความหมาย พัฒนาเป็นสินค้าที่ระลึกร่วมสมัยและมีอัตลักษณ์ไทย
ในรอบแรกมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 30 ชิ้น ซึ่งเจ้าของผลงานทุกชิ้นได้เข้ารับการอบรม “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเชิงวัฒนธรรม” จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ แล้วนำไปพัฒนาผลงานของตนเองให้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สามารถใช้ได้จริง ก่อนส่งกลับมาให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกอีกครั้ง และนำผลงานทั้งหมดมาจัดแสดงที่ “ร้าน Muse Shop ของมิวเซียมสยาม”
โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ได้จัดให้มีพิธีการมอบรางวัลให้กับผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดตามโครงการฯ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ “แหวนปลาตะเพียน” ซึ่งเป็นผลงานของ นายกฤติน ธีรวิทยาอาจ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งเป็นผลงานชื่อ “ขนมไทยกับใบตอง” ของ นางสาวพิชญา มณีรัตนพร จากสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ และผลรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สองเป็นผลงานของ นางสาวปรางค์ฤดี องค์ติลานนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีชื่อว่า “ที่คั่นแสนบาง”
นายกฤติน ธีรวิทยาอาจ หรือ “น้องหยก” เจ้าของไอเดียเจ๋ง “แหวนปลาตะเพียน” เล่าว่าปลาตะเพียนใบลานนั้นมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่เด็ก ในสมัยก่อนก็จะมีการห้อยปลาตะเพียนให้เด็กดู แล้วปลาตะเพียนก็ยังมีความเชื่อในเรื่องของโชคลาภอีกด้วย
“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี ประกอบกับเป็นคนที่ชอบใส่เครื่องประดับประเภทแหวนอยู่แล้ว จึงนำสิ่งนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ นำความเป็นไทยมาถ่ายทอดสู่สากลให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ยังมีเอกลักษณ์ความเป็นไทยอยู่ เพราะผู้ซื้อหรือผู้ใช้ก็จะมองเห็นวัฒนธรรมไทยผ่านแหวนวงนี้ได้อย่างชัดเจน” น้องหยกกล่าว
นางสาวพิชญา มณีรัตนพร หรือ “น้องโบว์” ที่นำเอารูปแบบของการห่อขนมใบตองมาพัฒนาเป็นประเป๋าถือ “ขนมไทยกับใบตอง” บอกว่าในสมัยก่อนคนไทยมักจะใช้ใบตองในการห่ออาหารและขนมต่างๆ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างหนึ่งของไทยในการนำใบตองมาเพิ่มมูลค่าด้วยการพับในลักษณะต่างๆ ให้เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารทำให้ดูน่ารับประทาน
“แต่คนไทยปัจจุบันแทบจะไม่รู้วิธีการพับใบตอง จึงนำเอาเรื่องของวิธีการพับใบต่อห่อขนมมาพัฒนาให้เป็นกระเป๋า โดยรูปแบบและวิธีการของการปิดและการเปิดกระเป๋าจะเหมือนกับการพับใบตอง ให้คนที่ใช้ได้มีความรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังพับใบตอง รู้สึกถึงเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นไทยและวัฒนธรรมไทย” น้องโบว์กล่าว
นางสาวปรางค์ฤดี องค์ติลานนท์ หรือ “น้องกาแฟ” เจ้าของที่คั่นหนังสือสุดเก๋ “ที่คั่นแสนบาง” บอกว่าภาพของ เสาชิงช้า ยักษ์วัดแจ้ง หรือรถตุ๊กตุ๊ก ภาพเหล่านี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศไทย นักท่องเที่ยวจะรู้จักและคุ้นเคยกับภาพเหล่านี้เป็นอย่างดี
“นำสัญลักษณ์เหล่านี้มาพัฒนาเป็นที่คั่นหนังสือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อไปเมื่อมองเห็นหรือนำไปใช้งานก็จะคิดถึงประเทศไทย ได้ความรู้สึกความเป็นไทย และรู้สึกถึงความสนุกสนานเมื่อมาเที่ยวที่ประเทศไทย เพราะผลิตภัณฑ์จะเน้นให้มีสีสันสดใสใช้ได้จริง” น้องกาแฟกล่าว
นางอินทุกานต์ คชเสนีย์ สิริสันต์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Martha Stewart Living หนึ่งในคณะกรรมตัดสินผลงานเปิดเผยว่า การคัดเลือกผลงานทำได้ค่อนข้างยาก เพราะมีผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนมาก ซึ่งแต่ละชิ้นก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีและหลายหลาย
“หลังจากที่ผ่านการคัดเลือก น้องๆ ทั้ง 30 คนก็จะเข้าทำเวิร์คช๊อป ตรงนี้เองที่ทำให้ได้เห็นถึงพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น จากไอเดียที่เป็นเพียงภาพวาด ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้จริง บางชิ้นก็มีการพัฒนาการเพิ่มมากขึ้นจากภาพต้นแบบ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและพัฒนาการในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมากของเยาวชนไทย หากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม” นางอินทุกานต์กล่าว
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้แห่งชาติ เปิดเผยว่าพิพิธภัณฑ์ใส่กล่อง เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้ได้เกิดการศึกษาเรียนรู้และการตีความหมายทางวัฒนธรรม และนำความหมายเหล่านั้นมาต่อยอดความคิดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของความเป็นไทย
“ผลงานต่าง ที่ได้รับรางวัลจะถูกนำไปพัฒนาผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกเพื่อจำหน่ายใน Museum Shop ภายใน มิวเซียมสยาม และใช้เป็นต้นแบบสินค้าที่ระลึกสำหรับพิพิธภัณฑ์เครือข่ายและผู้ที่สนใจต่อไป ซึ่งจะเป็นการช่วยขยายและนำความเป็นไทยออกไปสู่สากลมากยิ่งขึ้น ผ่านของที่ระลึกที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ร่วมสมัย และสื่อให้เห็นถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน” ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้แห่งชาติกล่าวสรุป.