นักวิชาการ ม.อ. เร่งวิจัยสกัดน้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็ก ค้นวิธีลดต้นทุน หวังสร้างทางเลือกใหม่พลังงานทดแทน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 5, 2010 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ นักวิชาการ ม.อ. เดินหน้าศึกษาวิธีการสกัดไขมันจากสาหร่ายขนาดเล็ก โดยสาหร่ายไม่ต้องผ่านการอบแห้ง ระบุช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เผยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน หวังใช้สาหร่ายขนาดเล็กเป็นวัตถุดิบทำเชื้อเพลิงในอนาคต เหตุเติบโตเร็ว และให้น้ำมันในสัดส่วนที่มากกว่าพืชชนิดอื่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผกามาศ เจษฎ์พัฒนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะผู้วิจัยจัดทำ “โครงการการผลิตพลังงานทดแทนจากสาหร่ายขนาดเล็ก” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อให้สามารถใช้สาหร่ายขนาดเล็ก เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับการผลิตพลังงานทดแทนในอนาคต ทั้งนี้ ในปัจจุบันการผลิตพลังงานจากพืชในประเทศไทย มักจะพบปัญหาการขัดแย้งด้านวัตถุดิบ เนื่องจากพืชที่ใช้สกัดเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ปาล์มน้ำมัน เป็นชนิดเดียวกับพืชน้ำมันที่ใช้บริโภค อีกทั้งต้องใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกมาก และใช้ระยะเวลานานในการเจริญเติบโต ซึ่งเมื่อพบว่า สาหร่ายขนาดเล็กหรือ Microalgae บางสายพันธุ์ มีปริมาณน้ำมันและปริมาณสารอินทรีย์ไฮโดรคาร์บอนเหมาะสมที่จะผลิตเป็นพลังงาน และใช้เวลาในการเจริญเติบโตเพียง 1 สัปดาห์ก็สามารถนำไปสกัดน้ำมันได้ จึงได้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวขึ้น อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า น้ำมันในสาหร่ายมีองค์ประกอบหลายส่วน บางชนิดมีองค์ประกอบที่สกัดแล้วได้น้ำมันที่มีคุณค่าทางอาหาร แต่ในงานวิจัยนี้ จะเน้นการนำมาผลิตไบโอดีเซล และไบโอแก๊สโซลีน ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งการที่จะได้สาหร่ายชนิดที่จะนำมาสกัดเป็นพลังงานในครั้งนี้ ได้มีการร่วมมือกับนักวิชาการที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงสาหร่ายที่มีปริมาณน้ำมันสูงจากคณะอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้มีการศึกษาการเลี้ยงสาหร่าย โดยมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่พบในแหล่งน้ำในท้องถิ่น และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงสาหร่ายสายพันธุ์ Chlorella ซึ่งมีรายงานว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีศักยภาพ “เมื่อได้สาหร่ายสายพันธุ์ที่ต้องการแล้ว เราต้องมาหาวิธีการเก็บเกี่ยว และสกัดน้ำมันที่เหมาะสม เนื่องจากวิธีการสกัดสาหร่ายแบบดั้งเดิมจะต้องเป็นสาหร่ายที่ทำให้แห้งแล้ว แต่สาหร่ายตัวอย่างที่นำขึ้นมาจากบ่อ จะมีเนื้อสาหร่ายจริงอยู่ไม่ถึง 5% ที่เหลือเป็นน้ำ ซึ่งในการสกัดน้ำมันแต่เดิมนั้นมีหลายวิธี เช่น การใช้การบีบอัด ซึ่งไม่เหมาะสมเนื่องจากสาหร่ายมีขนาดเล็กมาก และการใช้เฮกเซน (hexane) มาเป็นตัวทำละลาย แต่สารชนิดนี้ เป็นตัวทำละลายที่ไม่ละลายในน้ำ ดังนั้น หากมีน้ำผสมอยู่จะทำให้การสกัดทำได้ไม่ดี สาหร่ายจึงต้องไปผ่านกระบวนการอบแห้งมาก่อน ซึ่งต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ดังนั้น โครงการวิจัยนี้ จึงมุ่งเน้นที่จะศึกษาและพัฒนาเรื่องการเก็บเกี่ยว และวิธีการสกัดน้ำมันโดยใช้ตัวทำละลายตัวอื่นที่ไม่จำเป็นต้องอบสาหร่ายให้แห้งเสียก่อน เพียงแต่ทำให้สาหร่ายตกตะกอนแล้วนำไปสกัดได้เลย ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผกามาศ กล่าว จากการศึกษาพบว่า สาหร่ายขนาดเล็กเป็นพืชที่ให้น้ำมันมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำมันที่สกัดได้กับพืชน้ำมันชนิดอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ เป็นต้น โดยใน 1 กรัมของมวลสาหร่ายแห้งจะมีน้ำมันอยู่ประมาณ 30% แต่การที่จะเลี้ยงเพื่อนำมาสกัดน้ำมันให้เพียงพอนั้น ต้องใช้พื้นที่มาก ซึ่งหากมีการพัฒนารูปแบบวิธีการเลี้ยงสาหร่ายที่เหมาะสมจะสามารถประหยัดพื้นที่ได้มากขึ้น เช่น ออกแบบให้เลี้ยงในท่อ เป็นต้น แม้โครงการนี้จะกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย ซึ่งจะใช้การเลี้ยงสาหร่ายด้วยสารอาหารในน้ำธรรมดา อย่างไรก็ตาม หากมีการศึกษาต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถเลี้ยงสาหร่ายชนิดนี้ในแหล่งน้ำที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม หรืออาจทำอาชีพให้กับเกษตรกรได้ เพราะสาหร่ายขนาดเล็กเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผลิตพลังงานในอนาคต เนื่องจากไม่ไปแย่งน้ำมันจากพืชที่ใช้บริโภคซึ่งเคยเกิดปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมา เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118 e-mail address : c_mastermind@hotmail.com เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ