พม. เปิดเวทีทบทวนสถานการณ์ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศในสังคมไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday October 5, 2010 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--พม. เตรียมเสนอกรรมาธิการกฤษฎีกาฯ พัฒนา ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ วันนี้ (๕ ต.ค.๒๕๕๓) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ นางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการเสวนา เรื่อง “ถึงเวลาหาทางออก....ความเสมอภาคระหว่างเพศ” โดยมีผู้แทนเครือข่ายผู้หญิง และสตรี เข้าร่วมเวทีเสวนา โดยนางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ให้หลักประกันสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศไว้ในมาตรา ๓๐ แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีการกีดกันทางเพศเนื่องจากยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายเพื่อนำหลักการความเสมอภาคและสร้างโอกาสที่เท่าเทียมมาสู่การปฏิบัติ เห็นได้จากสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน ยังมีปัญหาการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยสาเหตุแห่งเพศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิงถูกเลือกปฏิบัติและถูกละเมิดสิทธิโดยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าในสังคม ขาดการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เช่น กรณีตำรวจล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และกรณีของ “ฟิล์มกับแอนนี่” เป็นต้น นางฮูวัยดีย๊ะ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศที่ชัดเจนส่งผลให้บุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศไม่ได้รับการคุ้มครองและความเป็นธรรมเท่าที่ควร ที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและมีมติเห็นชอบในหลักการแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาสาระสำคัญรอบสุดท้ายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้วยสถานการณ์ที่ปรากฎในสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และคณะทำงานส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ จึงได้ร่วมกันจัดการเสวนา เรื่อง “ถึงเวลาหาทางออก....ความเสมอภาคระหว่างเพศ” ขึ้น เพื่อร่วมกันทบทวนสถานการณ์เรื่องความไม่เสมอภาคระหว่างเพศที่ปรากฏในสังคมไทย และจัดทำข้อเสนอแนะ เสนอต่อคณะกรรมาธิการกฤษฎีกา ใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น “กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และภาคีเครือข่าย จะร่วมกันผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศและมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้เป็นกลไกในการส่งเสริมและเกิดความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างแท้จริง อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และผู้ที่ตกเป็น “เหยื่อ” ของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมด้วยสาเหตุที่เกิดมาเป็นเพศชายหรือเพศหญิงต่อไป” นางฮูวัยดีย๊ะ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ