KTAMลุยลงทุนตราสารหนี้รัสเซียต่อ หลังนักลงทุนตอบรับดีชูยิลด์3.50%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 5, 2010 15:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--กรุงไทย นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทได้เปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยรัสเซีย ฟิกซ์อินคัม 1 ซึ่งเป็นกองทุนแรกที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเทศรัสเซีย โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ในโอกาสนี้บริษัทจึงเตรียมเปิดจำหน่ายอีก1 กองทุน ที่เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ประเทศดังกล่าว ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 17 ( KTFF17) ระหว่างวันที่ 7-13 ตุลาคม 2553 มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท อายุ 2 ปี 9 เดือน จ่ายผลตอบแทนคืนอัตโนมัติทุก 3 เดือน มูลค่าเงินลงทุนขึ้นต่ำ 10,000 บาท มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝาก ตราสารทางการเงินที่รัฐบาล องค์การ หน่วยงานของรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชนของประเทศรัสเซีย เป็นผู้ออก หรือผู้ค้ำประกัน โดยกองทุนจะนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมุลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ทั่วไป ตามที่คณะกรรมการก.ล.ต.กำหนด โดยจุดเด่นของกองทุนนี้ คือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศรัสเซีย ที่มีฐานะการคลัง และการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่ผู้กู้เป็นสถาบันการเงินหรือกิจการ ซึ่งภาครัฐของประเทศรัสเซียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ( Government related firms ) โดยกองทุนจะลงทุนผ่านตราสารประเภท Loan Participation Note สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเครืองมือทางการเงินที่ได้รับความนิยมของกิจการในรัสเซียเพื่อใช้ระดมเงินทุนจากต่างประเทศ และตราสารที่ลงทุนได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกับผู้กู้เหล่านี้ และระดับเดียวกับประเทศรัสเซียที่ BBB โดย S&P สำหรับตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนในสัดส่วนสถาบันละ 25 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ประกอบไปด้วย 1) Russian Agricultural Bank (Baa1 โดย Moody) เป็นธนาคารภาครัฐเพื่อสนับสนุนภาคเกษตร 2) SBER Bank (Baa1) เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของรัสเซีย 3) Gazprom (Baa1) เป็นกิจการพลังงานครอบครองก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 17% ของโลก และ 4 ) Transneft (Baa1) เป็นกิจการผูกขาดระบบขนส่งน้ำมันผ่านท่อรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย โดยผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 3.50% ต่อปี พร้อมทั้ง มีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน นายสมชัย กล่าวถึง ภาวะการลงทุนในต่างประเทศ ว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) มีแผนจะขยายอายุมาตรการผ่อนคลายทางเงิน Quantitative Easing ต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการฟื้นต้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารในสหรัฐฯ รวมถึงประเทศเศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งไทยปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาพคล่องของระบบการเงินอยู่ในระดับสูงมาก แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ในขณะที่กระแสการไหลเข้าของเงินทุนสู่ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง ส่งผลต่อการแข็งค่าของสกุลในภูมิภาครวมทั้งเงินบาท ปัจจัยดังกล่าวมีผลให้ต้นทุนการป้องกันค่าเงินมีความผันผวน แต่จะเป็นผลดีต่อการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากมีต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากการเข้าทำสวอปข้ามสกุลระหว่างเงินบาทและเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ลดต่ำลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ