ก. พลังงาน ตรวจการใช้พลังงานในหน่วยงานราชการ 1,800 แห่งทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday March 29, 2007 09:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ก. พลังงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธานเปิดงาน "ลดการใช้พลังงานในหน่วยงานราชการ" ซึ่งจัดโดย กรมพัฒนาพลังงานแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน วันที่ 28 มีนาคม 2550 ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติและความผันผวนของราคาพลังงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รัฐบาลจึงเร่งหามาตรการเพื่อลดการใช้พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารของหน่วยงานราชการ เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับอาคารของภาคเอกชนทั่วไป
ในภาคราชการมีการใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณปีละ 4,500 ล้านหน่วย หรือประมาณร้อยละ 4 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศคิดเป็นเงินประมาณ 13,500 ล้านบาทต่อปี รัฐบาลจึงกำหนดให้การประหยัดพลังงานในหน่วยราชการเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดประสิทธิภาพการปฏิบัติงานเพื่อรณรงค์ให้หน่วยงานราชการเกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าว จัดทำโครงการ "ลดการใช้พลังงานในหน่วยงานราชการ (Energy Audit)" เพื่อเสริมศักยภาพของบุคลากรของอาคารหน่วยราชการให้สามารถดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงาน ก่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน สามารถตรวจสอบการใช้พลังงาน มีการกำหนดเป้าหมายและบริหารจัดการด้านการใช้พลังงานได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2550 นี้ จะเริ่มดำเนินการสำหรับอาคารของรัฐที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ 10,000 หน่วยต่อเดือน จำนวน 1,824 แห่ง ทั่วประเทศ คิดเป็นค่าไฟฟ้าถึงปีละประมาณ 810 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมโครงการจากหน่วยงานราชการต่างๆ จะได้รับการฝึกอบรม การตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงาน (Energy Audit) ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งการดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด โดยวิทยากรจาก พพ. และสถาบันการศึกษาอีก 7 แห่ง ทั่วประเทศตลอดระยะเวลาโครงการ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานราชการสามารถลดการใช้พลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างน้อยร้อยละ 10 คิดเป็นผลประหยัดมูลค่ามากกว่า 80 ล้านบาทต่อปี"
ดร.พานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า "ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจากโครงการนี้ นอกจากสามารถตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานและบริหารจัดการในหน่วยราชการของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว พพ. ถือว่าเป็นโครงการนำร่องและเป็นตัวอย่างสำหรับอาคารของภาคเอกชน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าอาคารราชการ หันมาสนใจการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในหน่วยงานตนเอง ยังมีผลพลอยได้จากการลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศด้วย"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ