กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ประสบความสำเร็จ ในการส่งทีมพลาสมา-ซี (Plasma-Z) ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก “สมอลไซส์ลีค” (Small size League) ในงานเวิร์ลโรโบคับ 2007 (World Robocup 2007) ระหว่างวันที่ 1-10 กรกฏาคม ที่ผ่านมา
ในการแข่งขันนัดชิงแชมป์โลกกับ ทีมซีเอ็มดรากอนส์ (CMDragons) มหาวิทยาลัยคานิกี้เมลอน (Carnegie Mellon University: CMU) แชมป์เก่าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมพลาสมา-ซีทำคะแนนเสมอทีมจากซีเอ็มยูด้วยคะแนน 5 ประตูต่อ 5 และเมื่อต่อเวลาการแข่งขัน ทีมพลาสมา-ซี ก็ยังทำคะแนนเสมอกับทีมซีเอ็มดรากอนส์ ด้วยคะแนน 6 ประตูต่อ 6 จนในที่สุดคณะกรรมการจึงให้มีการตัดสินการแข่งขัน โดยให้ทั้งสองทีมดวลการเตะลูกโทษ ซึ่งพลาสมา-ซี พ่ายไปอย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยคะแนน 7 ประตูต่อ 9 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ทั้งนี้ในพิธีการมอบรางวัล ประธานกรรมการได้กล่าวชื่นชมว่า การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ “สมอลไซส์ลีค” รอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ ถือเป็นการแข่งขันคู่ที่ดีที่สุดและสมศักดิ์ศรีที่สุดตั้งแต่มีการจัดแข่งขันมา
ศ.ดร ดิเรก ลาวัณย์ศิริ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “คณะรู้สึกภูมิใจและขอ ชมเชยนิสิตทีมพลาสมา-ซี ที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศมาครองได้ เป็นความสำเร็จของเยาวชนไทยที่สามารถแข่งขันกับทีมชั้นนำของโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี เป็นบทพิสูจน์ว่านิสิตนักศึกษาไทยมีความสามารถมาก ซึ่งโอกาสของเยาวชนไทยจะเกิดได้ต้องอาศัยความร่วมมือและสนับสนุนจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์และมหาวิทยาลัยเอง รัฐบาลและภาคเอกชนที่จัดการแข่งขันในประเทศและให้เงินทุนสนับสนุนให้ไปแข่งในต่างประเทศด้วย ทางคณะเองก็จะให้การสนับสนุนนิสิตให้มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพต่างๆในโอกาสต่อๆไป”
ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2007 ทีมพลาสมา-ซี ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในสายบี โดยทำการแข่งขันชนะคู่แข่งจากประเทศต่างๆ และรายละเอียดคะแนนดังต่อไปนี้
ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมอีเกิ้ลไนท์ (Eagleknight) จากประเทศเม็กซิโก คะแนน 10 ประตูต่อ 0
ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมซีเจยูนิคท์ (ZJUNict) จากประเทศจีน คะแนน 9 ประตูต่อ 1
ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมกิ๊กส์ (KIKS) จากประเทศญี่ปุ่น คะแนน 10 ประตูต่อ 0
ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมเฟอร์กอล (Furgal) จากประเทศบราซิล คะแนน 10 ประตูต่อ 0
ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมอาร์เอฟซี (RFC) จากประเทศสหรัฐอเมริกา คะแนน 10 ประตูต่อ 0
ทีมพลาสมา-ซี แข่งขันกับ ทีมโรโบดรากอนส์ (Robodragons) จากประเทศญี่ปุ่น คะแนน 6 ประตูต่อ 0
นายกานต์ กาญจนภาส กัปตันทีม ทีมหุ่นยนต์พลาสมา-ซี (Plasma-Z) กล่าวว่า “ เราทุกคนในทีมได้พยายามกันอย่างเต็มที่ทั้งกำลังกายและกำลังสมองในการแข่งขัน วันนี้เราทุกคนดีใจที่สามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ถือเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทุกคนในทีมได้ประสบการณ์มากมายจากการแข่งขันที่เราไม่อาจหาได้จากตำรา ซึ่งถือเป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่มาก เราสัญญาว่าในปีต่อไป ถ้าเรามีโอกาสจะต้องคว้าชัยชนะมาครองให้ได้ “
ทีมพลาสมา-ซีประกอบด้วยนิสิตชั้นปีที่ 4 จำนวน 10 คน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ทีมได้เตรียมหุ่นยนต์ขนาดเล็ก จำนวนห้าตัว เพื่อการเข้าร่วมการแข่งขันกันโดยใช้กฎของฟีฟ่า หุ่นยนต์ทุกตัวสามารถเตะ เดาะลูกและส่งบอลโดยอัตโนมัติโดยใช้การควบคุมแบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ทั้งนี้การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ ถือเป็นการแข่งขันที่ยากที่สุดในโลกประเภทหนึ่งเนื่องจากหุ่นยนต์จะทำงานโดยอิสระปราศจากการควบคุมใดใดจากมนุษย์และต้องทำงานสัมพันธ์กับกล้องที่ติดอยู่บนคานของสนามเพื่อแยกแยะเพื่อนร่วมทีมและคู่ต่อสู้
รศ.ดร.ประภาส จงสถิตวัฒนา ที่ปรึกษาสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ร่วมกับภาคเอกชน คือ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จัดการแข่งขันในประเทศ และส่งทีมแชมป์คือ ทีมพลาสมา-ซี เข้าร่วมการแข่งขันเวิร์ลโรโบคับ จนประสบความสำเร็จในวันนี้ ถือเป็นความภูมิใจของคณาจารย์ที่ตั้งใจในการประสาทวิชาและหาเวทีให้แก่เยาวชนไทยได้ทดสอบฝีมือจนสัมฤทธิ์ผลเป็นที่น่าพอใจ ทางสมาคม ซึ่งประกอบดวยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ คาดหวังที่จะเห็นพัฒนาการของนิสิตนักศึกษาที่เพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ และ เราจะยังคงส่งเสริมการเรียนรู้และปฏิบัตินอกตำราเรียนต่อไป
นายเจฟฟรีย์ ไนการ์ด รองประธานฝ่ายฎิบัติการ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ ซีเกทภูมิใจและดีใจที่เป็นหนึ่งในการช่วยให้เยาวชนไทยประสบความสำเร็จในวันนี้ ซีเกทจะยังคงมุ่งมั่นในการช่วยพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไปเนื่องจากเยาวชนที่ดีเป็นพื้นฐานของสังคมที่แข็งแกร่ง”
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับ วิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ที่ โทร. 0-2218-6956 หรือเว็บไซต์ www.trs.or.th
บริษัทซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อันหลากหลาย สำหรับองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และการผลิต ระดับโลกเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพ ในระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำในตลาดทั้งหมดที่เรามีส่วนร่วม บริษัทมีความมุ่งมั่น ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการบันทึกข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและพบข้อมูลซีเกทที่ www.seagate.com
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 0-2715-2919
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net